เรื่องน่ารู้ “การจ่ายค่าแรง” รายเดือน - รายสัปดาห์ - รายครึ่งเดือน และเงินเดือนพิเศษ


Lifestyle

1 พ.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
เรื่องน่ารู้ “การจ่ายค่าแรง”  รายเดือน - รายสัปดาห์ - รายครึ่งเดือน และเงินเดือนพิเศษ

เพิ่งมีข่าว นโยบายการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ลักษณะเป็นรายครึ่งเดือน จนเกิดความคิดเห็นไปต่าง ๆ นานา ซึ่งแท้จริงแล้ว คำว่า “เงินเดือน” หรือ Salary มีความหมายถึง ค่าตอบแทนที่จ่ายอย่างสม่ำเสมอ Thai PBS จึงอยากชวนไปสำรวจ การจ่ายและรับค่าแรง มีเรื่องน่ารู้น่าสนใจอะไรบ้าง ? การจ่ายค่าแรงมีแบบไหน ? การจ่ายทีละครึ่งครึ่ง มีข้อดี - ข้อเสียอย่างไร ? รวมไปถึง เงินเดือนพิเศษหรือโบนัส ในบางแห่งของโลก มีข้อบังคับให้บริษัทต้องจ่ายอยู่ด้วย

1. จ่ายค่าตอนแทนประจำมีแบบไหนบ้าง ?

การจ่ายค่าตอบแทน โดยปกติในประเทศไทย นิยมจ่ายเป็นรายเดือน คือทำงานครบเดือนแล้วจึงจ่าย หากตรงกับวันหยุด มักจะเลื่อนมาจ่ายก่อน ทว่ามีหลายประเทศที่นิยมจ่ายในรอบความถี่ที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งวัฒนธรรม ความเป็นมาของแรงงานในแต่ละประเภท โดยเป็นการจ่ายทั้งตามธรรมเนียมปฏิบัติ และมีกฎหมายควบคุมรอบการจ่ายค่าตอบแทน ส่งผลให้การจ่ายเดือนมีทั้งที่เป็นรายเดือน รายครึ่งเดือน (Semi-monthly) ราย 2 สัปดาห์ (Bi-weekly) และรายสัปดาห์

2. จ่ายแบบไหนดีกว่ากัน ?

ข้อมูลจากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการองค์กรทั่วโลก เผยถึงข้อดี – ข้อเสียของรอบการจ่ายค่าตอบแทน โดยระบุว่า ยิ่งรอบจ่ายถี่ จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านบัญชีสูงขึ้นตามมา ขณะที่มีข้อดีคือ ช่วยให้พนักงานจัดการการเงินได้ง่ายขึ้น โดยรอบการจ่ายแบบรายสัปดาห์จะเหมาะกับการจ่ายค่าแรงสำหรับแรงงานที่รับค่าตอบแทนแบบรายวัน เนื่องจากต้องคำนวนค่าตอบแทนพิเศษ (OT)

ขณะที่รอบการจ่าย ยิ่งห่าง จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการได้มากกว่า แต่มีข้อเสียสำหรับพนักงานใหม่คือกว่าจะได้ค่าตอบแทนครั้งแรกต้องรอนานกว่า นอกจากนี้ การรับเงินเป็นรายเดือน จะทำให้ภาระในการจัดการด้านการเงินตกไปอยู่กับมนุษย์เงินเดือนมากกว่า เนื่องจากต้องจัดการเงินปริมาณมากในระยะเวลาที่ยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทย จากประเด็นแบ่งจ่ายเงินเดือนของข้าราชการ มีข้อกังวลถึงการจัดการด้านการเงิน ที่หากเป็นการแบ่งจ่าย พนักงานอาจมีเงินไม่เพียงพอต่อรายจ่ายประจำช่วงต้นเดือน อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าที่พัก รวมถึงภาระรอบการเก็บหนี้สินอื่น ๆ ที่อาจส่งผลเสียมากกว่า

ยิ่งรอบเงินออกนาน ยิ่งต้องการจัดเงินให้ดี

3. บางที่ในโลกนิยมรับเงินทุกครึ่งเดือน

การจ่ายค่าตอบแทนแบบประจำ โดยส่วนใหญ่มีกำหนดตามกฎหมายให้จ่ายไม่เกิน 1 เดือน ดังนั้นในหลายพื้นที่แม้จะมีการเปิดกว้างให้จ่ายค่าตอบแทนได้หลายแบบ ตามการจัดการของแต่ละหน่วยงาน ทว่ามีบางพื้นที่ของโลกที่กำหนดไว้ชัดเจนให้จ่ายครึ่งเดือนหรือทุก 2 สัปดาห์

ในสหรัฐอเมริกา นิยมจ่ายเป็นราย 2 สัปดาห์มากที่สุด มีบางรัฐที่ระบุไว้เป็นข้อบังคับ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย และแมรีแลนด์ ขณะมีในพื้นที่อื่น ๆ นิยมรับเงินรายครึ่งเดือนเช่นกัน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ บราซิล ไต้หวัน ขณะที่แคนาดา ให้ลูกจ้างสามารถเลือกรอบจ่ายได้

ทั้งนี้ ในทางกลับกันมีบางประเทศที่อนุญาตให้จ่ายเงิน 2 เดือนครั้ง (bi-monthly) อาทิ ปากีสถาน ไนจีเรีย เม็กซิโก รวมถึงนิวซีแลนด์ ในส่วนของทวีปเอเชีย ส่วนใหญ่นิยมจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือน

4. รู้จัก เงินเดือนที่ 13 หรือ 14 คืออะไร ?

สำหรับมนุษย์เงินเดือน ต่างคุ้นเคยและคาดหวังกับคำว่า “โบนัส” หรือเงินพิเศษ ที่บริษัทจ่ายให้เมื่อทำงานมาครบรอบปี ประเทศไทยไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายว่าจะต้องมีการจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน แต่ในหลายประเทศมีการระบุไว้เป็นข้อบังคับโดยมีลักษณะคล้ายเงินโบนัส แต่มีชื่อเรียกกันว่า เงินเดือนที่ 13 และ 14 ซึ่งจะออกในช่วงกลางปีและปลายปี

โดยเงินเดือนที่ 13 เกิดขึ้นมานาน ในประเทศอิตาลีถูกเรียกว่า “gratifica natalizia” ซึ่งมีความหมายว่า เงินพิเศษช่วงคริสต์มาส เป็นเงินให้พิเศษที่นายจ้างจ่ายให้โดยไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ ก่อนจะถูกบรรจุในกฎหมายให้เป็นเงินพิเศษในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงานช่วงปี 1937 และขยายไปสู่แรงงานกลุ่มอื่น ๆ ในปี 1946

ถึงปัจจุบัน มีหลายประเทศที่มีข้อบังคับดังกล่าว ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินเดีย อินโดนีเซีย โปรตุเกส ประเทศส่วนใหญ่ในแถบลาตินอเมริกา ขณะที่ในหลายประเทศมีการให้เงินเดือนพิเศษเป็นธรรมเนียมไม่ได้ระบุเป็นข้อบังคับ ได้แก่ สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น ขณะที่ในทวีปยุโรปและแอฟริกาจะขึ้นอยู่กับการตกลงกัน

การเรียกว่าเงินเดือนที่ 13 และ 14 มาจากบางสถานที่ มีการจ่ายโบนัส 2 รอบ ซึ่งมักจะเป็นเงินพิเศษที่ให้มาในช่วงกลางปีกับช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม เงินเดือนที่ 13 และ 14 มักจะให้เป็นของขวัญ มีรายละเอียดต่างจากเงินโบนัส (Bonus payment)  ที่จะขึ้นอยู่กับผลการทำงานมากกว่า

การให้ค่าตอบแทนของแต่ละพื้นที่ทั่วโลก มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแรงงาน ลักษณะของแรงงานในประเทศนั้น ๆ รวมถึงการจัดการรอบการใช้จ่ายเงิน โดยการจ่ายค่าตอบแทนยังมีลักษณะและประโยชน์ที่แตกต่างกันไปอีกด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ว้าวุ่นเลย! เงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ใครคิดเพื่อใคร

อ้างอิง
How Often Employees Get Paid Depends on One Thing—Pay Frequency
Pay Frequency Around the World
4 Types of Payroll Schedules and How to Choose Between Them
What Are 13th And 14th Salaries

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข้าราชการเงินเดือนแบ่งจ่ายเงินเดือนค่าแรงขั้นต่ำ
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ