ข่าวดี คาด "เสือดาว-เสือดำ" เพิ่มเป็น 200 ตัว เล็งติดกล้องสำรวจ

สิ่งแวดล้อม
23 พ.ค. 66
13:09
1,350
Logo Thai PBS
ข่าวดี คาด "เสือดาว-เสือดำ" เพิ่มเป็น 200 ตัว เล็งติดกล้องสำรวจ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ครั้งแรก กรมอุทยานฯ - WWF เตรียมสำรวจประชากรเสือดาว-เสือดำในไทย ขณะที่หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า คาดแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 200-300 ตัว โดยเฉพาะกลุ่มป่าตะวันตก แต่ห่วงลดลงในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ภูเขียว-น้ำหนาว

ภาพความน่ารัก แม่ลูกเสือดำโชว์ตัวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และหลายครั้งที่นักท่องเที่ยวสามารถบันทึกภาพเสือดาว เสือดำ เดินบนถนนทางขึ้นเส้นทางบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง แม้จะพบความถี่ แต่ในทางวิชาการยังไม่มีการศึกษาข้อมูลประชากรเสือกลุ่มนี้ในป่าไทย

นายสิทธิชัย นุชัยเหล็ก หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่แน่ชัดถึงตัวเลขประชากรเสือดาว เสือดำ แต่คาดการณ์ว่า มีประชากรในป่าธรรมชาติ 200-300 ตัว มากกว่าประชากรเสือโคร่งที่มีประมาณ 180 ตัว

แม่ลูกเสือดำโชว์ตัวในแก่งกระจาน ภาพ : ปริ๊น รักษ์ป่า และเอนก แย้มกลีบ

แม่ลูกเสือดำโชว์ตัวในแก่งกระจาน ภาพ : ปริ๊น รักษ์ป่า และเอนก แย้มกลีบ

แม่ลูกเสือดำโชว์ตัวในแก่งกระจาน ภาพ : ปริ๊น รักษ์ป่า และเอนก แย้มกลีบ

พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณป่าตะวันตก โดยเฉพาะป่าแก่งกระจานมีแนวโน้มประชากรเพิ่มขึ้น สังเกตจากการปรากฏตัวบนกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า และการโชว์ตัวให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพและคลิปอยู่เป็นประจำ

แม้ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการแน่ชัด แต่การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน คาดว่ามีประชากรเสือดาว เสือดำ มากกว่า 10-20 ตัว ซึ่งเหยื่อหรืออาหารหลักของสัตว์ล่าเหยื่อขนาดกลางกลุ่มนี้ เป็นสัตว์ขนาดเล็กถึงกลาง โดยเฉพาะเก้ง ลูกกวาง

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า ยังแสดงความกังวลต่อประชากรเสือกลุ่มนี้ที่ลดลงจนน่าวิตกในหลายกลุ่มป่า โดยเฉพาะกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว แทบไม่เคยปรากฏตัวในกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า เจ้าหน้าที่พบเพียงร่องรอยเท้าจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ

ประชากรเพิ่ม แต่หลายป่าน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่พบเสือดาวได้น้อยมาก

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้สัตว์ผู้ล่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง คือ ถิ่นที่อยู่ ภัยคุกคามจากผู้ล่า ปริมาณเหยื่อ โดยช่วง 40 ปีก่อนหน้านี้ ภัยจากผู้ล่าเกิดขึ้นต่อเนื่อง กระทั่ง 10 ปีหลังที่สังคมค่อนข้างแอนตี้พฤติกรรมการล่า ประกอบกับกรมอุทยานฯ ให้ความสำคัญกับการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทำให้ปัจจัยการล่าลดลงไป

ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ ร่วมกับ WWF จัดทำโครงการสำรวจประชากรเสือดาว เสือดำ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยตรวจนับประชากรของเสือกลุ่มนี้ กำลังวางแผนว่าจะตรวจนับที่ใดก่อน คาดว่าเริ่มจากกลุ่มป่าตะวันตกที่มีประชากรเสือมากที่สุด โดยใช้ข้อมูลจากลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และปูพรมวางกล้องดักถ่ายในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งนานาชาติให้ความมั่นใจในการใช้กล้องตรวจนับประชากรสัตว์ป่า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กยอด “เสือดาว” ในป่าไทย เหลือแค่ 130 ตัว 

"เสือดำแม่ลูก" โชว์ตัวอุทยานฯ แก่งกระจาน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง