ยังสนุก ตื่นเช้า กทม.เมืองในฝัน “ชัชชาติ” ดันศูนย์กลาง Ecosystem

การเมือง
8 พ.ค. 67
11:33
308
Logo Thai PBS
ยังสนุก ตื่นเช้า กทม.เมืองในฝัน “ชัชชาติ” ดันศูนย์กลาง Ecosystem
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

บ่ายคล้อย แดดร่มลมตก พื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร “สวนป่าเบญจกิติ” ท่ามกลางคนเมืองที่เข้ามาใช้บริการวิ่งออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ยังมีสองหนุ่มรุ่นใหญ่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” และ “สุทธิชัย หยุ่น” วัยต่างกัน นัดพบเพื่อพูดคุยในบรรยากาศแบบสบายๆ กับ “รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น”

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ท้าวความถึงการทำงานที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี ในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่อาสามาเป็นตัวแทนคนเมืองหลวง ที่หวังเข้ามาแก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน ควบคู่กับการสร้างสภาพแวดล้อม โดยเป้าหมายทำ “กทม.” ศูนย์กลาง Ecosystem บริษัทจากต่างประเทศ

“ผมว่า กทม. มีจุดแข็งหลายเรื่อง แต่ขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อน สิ่งที่ผมมองอยากให้เป็นเมืองน่าอยู่ของทุกคน ไม่ใช่แค่บางคน ทุกคน คือ เฟืองที่ช่วยหมุนเมืองให้ก้าวไปข้างหน้าได้ เราไม่สามารถอยู่ได้เฉพาะพวกใดพวกหนึ่ง ทุกคนต้องมีความสุขในเมืองนี้ เพราะในอนาคตสิ่งที่เมืองแข่งกัน ไม่ใช่แค่การลงทุนเท่านั้น แต่แข่งเรื่องของความสามารถที่มีปัจจัยในการดึงคนเก่ง นักพัฒนา บริษัทในต่างประเทศ เข้ามาสร้างฐานอยู่ในประเทศไทย”

“ชัชชาติ” บอกว่า สิ่งสำคัญของการพัฒนาเมือง ไม่ใช่เพียงแค่ตนเองที่เป็น ผู้ว่า กทม. แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเมืองไปได้อย่างรวดเร็ว บนพื้นฐานของงบประมาณที่ถูกจำกัด

“สวนป่าเบญจกิติ” นับเป็นต้นแบบความสำเร็จที่มีการเปลี่ยน “โรงงานยาสูบเป็นพื้นที่สาธารณะ” ที่ต่อขยายพื้นที่เดิมสวนเบญจกิติ 130 ไร่ บริเวณรอบ ๆ บึงน้ำโรงงานยาสูบ เป็นเกือบ 500 ไร่ หลังจากกรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังผู้เป็นเจ้าของที่ดิน “โรงงานยาสูบ” ได้มอบพื้นที่บริเวณโรงงานยาสูบคืนเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนเมือง โดยทยอยเวนคืนและย้ายโรงงานไปยัง จ.พระนครศรีอยุธยา

สวนป่าแห่งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นสวนสาธารณะที่เอาไว้ออกกำลัง หรือพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่ภายในพื้นที่ดังกล่าว มีการจัดการให้เป็นสวนป่ามีระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันเอง โดยที่เข้าไปดูแลน้อยที่สุด ทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งเรียนรู้พืชพันธุ์ดั้งเดิมและไม้แปลกหายาก สวนเดินได้ และมีพื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับคนเมืองได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร นี่คือโจทย์หลัก

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีในส่วนของสนามกีฬาที่มีการสร้างในอาคารยาสูบเดิม โดยที่สำเร็จได้ก็เนื่องด้วยเอกชนหลายภาคส่วนเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการสร้างสนามกีฬา ทั้ง 7 ชนิด คือ Basketball, Street Basketball, Pickleball, Table Tennis, Badminton, Futsal และ Teqball ซึ่งประชาชนสามารถไปเล่นได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เกือบ 2 ปี ในฐานะผู้ว่า กทม.

จับเข่าคุยกันต่อ กับคำถามที่ว่า “เกือบ 2 ปี ในการเข้ามานั่งเป็นผู้ว่า กทม. ผลงานอะไรที่ประชาชนสามารถจับต้องได้จริง”

ชัชชาติ บอกว่า เป็นงานในระดับเส้นเลือดฝอย ระดับรากหญ้า นั่นคือ “ทราฟฟี่ฟองดูว์” (Traffy Fondue) แอพพิเคชั่นที่ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ด้วยการแจ้งปัญหาด้วยข้อมูลรายละเอียด ภาพหน้างาน และพิกัดตำแหน่ง เพื่อให้สามารถช่วยให้หน่วยงานต่างๆ บริหารจัดการปัญหาได้ทันท่วงที โดยแอพพิเคชั่นดังกล่าวมีมานานแล้ว แต่เข้าไม่ถึงประชาชนทำให้ที่ผ่านมามีคนใช้น้อย ปัจจุบันมีคนแจ้งปัญหาเข้ามามากถึง 560,000 เรื่อง แก้ไปแล้ว 440,000 เรื่อง

“ข้อดีของ Traffy Fondue เป็นแพลตฟอร์มที่ส่งข้อร้องเรียนถึงหน่วยงาน และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านผู้ว่า กทม. อีกทั้งยังทำให้เห็นว่าเรื่องที่ส่งเข้ามามีการแก้ช้าหรือเร็ว เพราะจะมีการแสดงผลของวันที่ส่ง วันที่แก้ และส่งไปที่ใคร”

สิ่งสำคัญที่มองเห็นคือ “ข้าราชการ” เปลี่ยนวิธีคิด เพราะที่ผ่านมาปัญหาทั้งหมดจะมุ่งตรงไปที่ผู้ว่า กทม. กลับกลายเมื่อข้อร้องเรียนได้ส่งตรงไปยังเขตที่รับผิดชอบก็จะเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชนทันที โดยไม่ต้องพะวงว่าจะต้องส่งเรื่องผ่านไปยังผู้ว่า กทม. เพื่อได้รับการอนุมัติก่อน จึงทำให้การแก้ปัญหาที่ผ่านมาล่าช้า ซึ่งปัจจุบันมีการประเมินพบว่าการแก้ปัญหาเร็วขึ้น 27 เท่า นับจากก่อนหน้านี้ ใช้เวลาประมาณเดือนกว่า หรือเฉลี่ย 33 วัน ขณะนี้เหลือประมาณ 1 วัน

“ถามว่า 540,000 เรื่องที่แจ้งมาในแอพ Traffy Fondue ผมก็บอกทีมงานว่า ‘เราไม่ได้โชว์ถึงความอ่อนแอนะ แต่โชว์ว่าประชาชนเขาไว้ใจเรา’ ถ้าเขาไม่ไว้ใจ เขาจะไม่ยกโทรศัพท์ถ่ายรูป ส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาหรอก สิ่งเหล่านี้ทำให้ความคิดของข้าราชการทำงานเปลี่ยนไป มองที่ประชาชนมากขึ้น”

แม้จะมีเทคโนโลยี หรือ แอพพิเคชั่น ที่ทำให้ประชาชนแจ้งปัญหาได้ง่ายขึ้น “ผู้ว่า กทม.” มองว่า มันเป็นเพียงยุทธวิธีในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญของการวางแผนในระยะยาวคือยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

เดินหน้าต่อ 200 นโยบายที่เคยหาเสียง

“ผู้ว่า กทม.” ยืนยันว่า ทุกเรื่องที่ทำได้ยังเดินหน้าทำต่อ แต่ในบางนโยบายที่เมื่อมาดูแล้วมันไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะมีปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมขึ้นกับสถานการณ์ อย่างเช่นเรื่องของ “ห้องสมุดเคลื่อนที่” ก็เปลี่ยนมาเป็น “บ้านหนังสือ” เนื่องด้วยหากเป็นการเคลื่อนที่จะทำให้เด็ก และคนในชุมชนต้องรอหมุนเวียนรถห้องสมุดเคลื่อนที่เพียงแค่เดือนละครั้ง แต่หากเป็นบ้านสมุดก็จะทำให้สามารถเข้าไปใช้ได้ทุกวัน

ส่วนเรื่องการปราบ “คอรัปชั่น” ตั้งแต่ตนเองเข้ามาสถานการณ์ก็ดีขึ้น เนื่องด้วยมีนโยบายการเปิดเผยข้อมูลการพัฒนา สนับสนุน จัดจ้างทุกอย่าง สัญญาต่างๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้จาก data.bangkok.go.th แต่ถามว่ายังมีอยู่ไหม?... ยอมรับว่า ยังเจออยู่ แต่เป็นในระดับปฏิบัติการ แต่ก็พยายามดำเนินการขั้นเด็ดขาด

สำหรับปัญหาฝุ่นพิษ หรือฝุ่น PM 2.5 ผู้ว่าฯชัชชาติ บอกว่า สถานการณ์ในปีนี้ดีขึ้น หากเทียบปีที่แล้ว แต่ก็ไม่สามารถเคลมได้ว่าเป็นผลงานของตัวเอง เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ และการเผาจากข้างนอก แน่นอนว่า “รถยนต์ที่มีจำนวนมากใน กทม.” ก็ยังเป็นสาเหตุหลัก และหลายคนยังมีความเข้าใจผิดว่า “รถควันดำ”เท่านั้นที่ปล่อย PM2.5 ทั้งที่จริงคือ “PM10” แต่รถดีเซลคือตัวการสำคัญในการปล่อย PM 2.5 ที่ผ่านมา กทม. มีแคมเปญร่วมกับเอกชน “เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง” เกือบ 3 แสนคัน รวมถึงการลดราคาให้กับผู้ใช้บริการ

ในอนาคตต้องร่วมกับรัฐบาลให้มากขึ้น ในแง่ของการทำ EV ,Ecosystem , รวมมีแนวคิดในการแก้กฎหมายภาษีรถยนต์ ที่ปัจจุบันภาษีรถยนต์เก่ามีราคาถูกกว่ารถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งจะต้องไปคุยกับกระทรวงการคลัง และ กระทรวงคมนาคม

ขณะที่การเผาของเกษตรกร เบื้องต้นได้ทดลองซื้อเครื่องอัดฟาง 3 เครื่อง ให้ชาวนาย่านหนองจอก มีนบุรี ยืมในการอัดฟางขายแทนการเผาฟาง ซึ่งก็ได้ผลดีเพราะได้ใช้ทำอาหารสัตว์ และเชื้อเพลิง ซึ่งชาวนาก็มีการสลับกันใช้ ทำให้ปีนี้จุดความร้อนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

เทคโนโลยีแก้ปัญหาจราจรของคนเมืองหลวง

“จะลดปัญหาการจราจรได้” สิ่งสำคัญ “จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น” เพื่อทำ “ขนส่งมวลชนให้ดี” แม้ว่าปัจจุบันจะมีรถไฟฟ้าเกือบ 500 กิโลเมตร แต่ปัญหาหลัก “เข้าไม่ถึงในซอยบ้าน” จึงทำให้การเดินทางของประชาชนไม่ตอบโจทย์ เมื่อลงรถไฟฟ้าแล้วจะต่อรถเข้าบ้านอย่างไร สิ่งที่วางแผนต่ออาจจะต้องทำข้อมูลให้มากขึ้นเพื่อเปลี่ยนเส้นทางรถเมล์จากระยะยาวให้ไปวิ่งในซอย และการทำทางเท้าใหม่ให้น่าเดิน

“ผมมีเป้าหมาย 4 ปี ในตำแหน่งผู้ว่า กทม. จะต้องมีทางเท้าน่าเดิน 2,000 กิโลเมตร ทั้ง Walkway (ทางเดิน) ที่มี Covered Walkway (หลังคาคลุมทางเดินกันแดดกันฝน) , Skywalk (ทางเชื่อม) ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการที่ถนนราชวิถี เนื่องด้วยมีการเชื่อมต่อ skywalk บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจะเชื่อมไปยังโรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มี 9 โรงพยาบาลโดยรอบ ซึ่งเรียกว่าโซน “Healthcare”

แต่ Skywalk ก็ไม่อยากทำมาก เพราะจะทำให้เศรษฐกิจตาย ร้านค้าข้างล่างขายของไม่ได้ เป็นไปได้จึงอยากจะให้เดินบนฟุตบาท จึงต้องทำฟุตบาทให้น่าเดินขึ้น ขณะนี้ได้ดำเนินการไปเกือบ 300 กิโลเมตา กับฟุตบาทใหม่ที่มีมาตรฐานด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีดีไซน์ที่สวยงามน่าเดิน

ขณะที่เรื่องหาบเร่แผงลอย ในขณะนี้มีอยู่สองแบบคือ “หาบเร่ที่อยู่จุดผ่อนผัน” กับ “หาบเร่นอกจุดผ่อนผัน” ซึ่งก่อนหน้านี้มีจุดผ่อนผันกว่า 700 จุด ได้มีการยกเลิกไปแล้ว 200 จุด ซึ่งก็อยู่ในระยะค่อยเป็นค่อยไป ก็ต้องให้เวลากับผู้ค้าตามที่ได้ตกลงกันไว้ ในระยะยาวในแต่ละส่วนก็จะต้องหาพื้นที่เพื่อให้เป็น “Hawker Center” หรือพื้นที่หาบเร่แผงลอยแบบจัดระเบียบ ในประเทศสิงคโปร์ “ก็ต้องเข้าใจว่าคนรายได้ก็อยากของกินที่ไม่แพง ซึ่งหาบเร่แผงลอยเหล่านี้ก็ตอบโจทย์ ดังนั้นจะยกเลิกเลยไม่ได้ แต่ต้องทำให้มันเป็นระเบียบอยู่ในพื้นที่เป็นสัดส่วน เพราะสุดท้ายแล้วร้านค้าข้างทางก็ยังเป็นเสน่ห์ของสตรีทฟู้ดเมืองไทย”

“ผู้ว่า กทม.” มองว่า การจะพัฒนาเมืองได้เอกชนคือส่วนสำคัญ แต่การจะให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาเมือง ก็ต้องมีแรงจูงใจที่เหมาะสม อาจจะเป็นขั้นตอนที่ทำให้เขาดำเนินการได้สะดวก เช่น สมมติว่า กทม. ทำใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ก็อาจจะต้องใช้เทคโนโลยีให้สามารถยื่นออนไลน์ได้ โดยไม่ได้ต้องเจอเจ้าหน้าที่ …แต่หลายคนอาจกลัวการฮั้วประมูลกัน.. มองว่า สิ่งสำคัญคือการตั้งราคากลางที่เหมาะสม ก็จะไม่มีปัญหา แต่หากมีการตั้งราคากลางสูงก็จะทำให้มีช่องทางของการฮั้วประมูล ส่วนคนที่เคยทำผิด จะต้อง “Black List” ไหม .. มองว่าก็ต้องทำไปตามกฎหมายตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง

การทำงานช่วง2 ปีที่เหลือ ทุ่ม “การศึกษา-เฮลท์แคร์”

“ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” มีความคิดเห็นว่า เวลาคนพูดถึง กทม. จะคิดถึง “รถติด” “ฝุ่น” แต่ส่วนตัวกลับมอง 2 เรื่อง คือ “การศึกษา” กับ “เฮลท์แคร์” ต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ “โง่ จน เจ็บ” กทม.มี 437 โรงเรียน มีเด็ก 250,000 คน แต่ได้งบประมาณน้อยกว่าค่าเก็บขยะ ส่งผลให้การศึกษาใน กทม.มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก โดยขณะนี้ได้มีการปรับ 3 เรื่อง คือ “เรื่องกายภาพ” โรงเรียนต้องพร้อม เรื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่างๆ ต้องพร้อม หลังเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ปีแรกก็ทำคอมพิวเตอร์ใหม่ 20,000 เครื่อง เพื่อให้สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ “เรื่องครู” คุณภาพครู ที่จะต้องมีแรงจูงใจ เพราะที่ผ่านมาครู กทม. เสียเวลาไปทำงานด้านเอกสาร บัญชี ฝึกอบรม และงานธุรการ จึงได้มีโครงการคืนครูให้นักเรียน ด้วยการจ้างธุรการประจำโรงเรียน “ปรับหลักสูตร ให้ทันสมัย” ได้นำหลักสูตรโรงเรียน กทม. เข้านวัตกรรมการศึกษา และปรับหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะมากขึ้น เพื่อให้เด็กสามารถมีผลการศึกษาที่ดี

“เฮลท์แคร์” เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก ของ กทม. โดยมีโครงการยกระดับสุขภาพปฐมภูมิกับศูนย์สาธารณสุขในเขตพื้นที่ของตัวเอง เพื่อลดอัตราความหนาแน่นไปรอรับการรักษาจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ โดยปัจจุบันยังมีการขยายเวลาไปถึง 20:00 นาฬิกา ซึ่งพบว่ามีคนมาคลินิกนอกเวลากว่า 4 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อยู่ในชุมชน กลุ่มบัตรทอง บัตรประกันสังคม ขณะที่ผู้ป่วยติดเตียง กทม. ก็ได้มีการให้รักษาตัวที่บ้านด้วยคำแนะนำการทำเตียงให้เหมาะสมกับผู้ป่วย พร้อมระบบลิงค์ข้อมูลไปยังโรงพยาบาลเพื่อลดพื้นที่ในโรงพยาบาล

ดันกทม. “เมืองหลวง”เอเชียลำดับต้นๆ

หากเทียบกับ “กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย” “สิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์” “ฮานอย ประเทศเวียดนาม” “โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ มองว่า กทม. สู้ได้ เนื่องด้วยมีจุดแข็งหลายอย่าง แต่ก็มีจุดอ่อนที่จะแก้

“ผมเชื่อว่า กทม.จะเป็นอนาคต เรามีบริษัทอโกด้า (Agoda) จองเครื่องบิน โรงแรม ที่มีพนักงานกว่า 3000 คน การที่ CEO บอกว่ามาตั้งที่นี้เพราะ “thebest” เขาสามารถเรียกทั่วโลกได้นะ เขาอยากอยู่ที่นี้เพราะสะดวก สบาย ค่าครองชีพไม่แพง เมืองมีความสุข คนยิ้มแย้มแจ่มใส รวมทั้งบริษัทจากฝรั่งเศส ที่มาตั้งใน กทม. มีเอ็นจีเนีย 800 คน เขียน Coding (การเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์) เพื่อบริการทั่วโลก ผมว่านี้คือหัวใจเลย เพราะอนาคตไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม หากสามารถทำเมืองให้น่าอยู่ ก็จะดึงการเข้ามาลงทุนได้ หากเทียบกับสิงคโปร์ ฮ่องกง หรือประเทศอื่นๆ กทม. ค่าครองชีพถูกกว่า”

เช่นเดียวกับในขณะนี้ ที่ได้มีการพูดคุยและสานสัมพันธุ์กับทูตหลายประเทศ ซึ่งก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยโปรโมทให้ กทม. รวมถึงยังได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้กันและกัน ในอนาคตก็อยากจะเห็น กทม.เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของเอเชีย ทั้งมิวเซียม อาร์ทแกลอรี่ ที่เอกชนมีบทบาทมาก สิ่งสำคัญคือการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน

“หากถามว่าพอใจกับสิ่งที่ได้ทำนำเกือบ 2 ปีไหม “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” บอกว่า ยังไม่พอใจ ยังต้องทำงานหนักขึ้นเรื่อยๆ ส่วนจะพอใจไหม ต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ ส่วนเวลาอีก 2 ปี ที่เหลืออยู่ ก็ยังคงทำงานอย่างเต็มที่ ยังสนุก ยังตื่นเช้า ทำงาน ทำงาน ทำงาน”

พบกับ:รายการคุยนอกกรอบกับสุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง