"เพื่อให้ทุกอาชีพมีส่วนร่วม" เป้าหมายของ 20 อาชีพ 200 สว.2567

การเมือง
8 พ.ค. 67
17:10
4,124
Logo Thai PBS
"เพื่อให้ทุกอาชีพมีส่วนร่วม" เป้าหมายของ 20 อาชีพ 200 สว.2567
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"เลือกกันเอง" คอนเซปต์ที่ระบุตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ทำให้ประชาชนที่มาจากสาขาอาชีพที่หลากหลายเป็นผู้มีสิทธิสมัครและเลือก สว.ได้ ซึ่งรายละเอียดทั้ง 20 อาชีพที่เหมาะสมกับการทำงานในสภาสูง มีดังนี้

มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อธิบายที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่อง "ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา" ในหนังสือเรื่อง "เขียนไว้กันลืม" ว่าแต่เดิมมานั้น การมีวุฒิสภา มักจะเกิดจากแนวคิดว่าสภาผู้แทนยังไม่พร้อม ควรมีสภาพี่เลี้ยงเพื่อประคับประคองกันไป สมาชิกวุฒิสภาในตอนต้นจึงมาจากการแต่งตั้ง เพื่อให้ได้คนที่มีคุณวุฒิสูง มีประสบการณ์มาก ๆ ต่อมาก็ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากแต่ละจังหวัด โดยให้ตัดจากพรรคการเมือง เพื่อความเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อาณัติพรรคการเมือง

แต่ปัจจุบันคนมีความรู้ มีปริญญาสูง ๆ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น คนที่มิได้มีปริญญาสูง ๆ ก็มีประสบการณ์ที่สะสมมามากเพียงพอที่จะไม่ต้องการพี่เลี้ยงอีก

จึงคิดว่า ทำไมไม่เปลี่ยนวุฒิสภาให้เป็นสภาที่จะรับรู้ความต้องการหรือความเดือดร้อน หรือส่วนได้เสียของคนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างแท้จริงและความต้องการของเขาได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง

นั่นจึงเป็นที่มาของวุฒิสภาที่จะมาจากประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกอาชีพ ทุกลักษณะ

อ่านข่าว : https://policywatch.thaipbs.or.th/article/legal-6

ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 10 ภายใต้บังคับมาตรา 15 วรรคสอง การแบ่งกลุ่มตามมาตรา 11 เป็นไปเพื่อให้บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา 13 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 ทุกคนมีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

มาตรา 11 : แบ่งกลุ่ม 20 อาชีพ

วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 200 คนซึ่งมาจากการ "เลือกกันเอง" ของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคมในแต่ละกลุ่ม ดังต่อไปนี้

  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการอัยการ ตํารวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  3. กลุ่มการศึกษา อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  4. กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  5. กลุ่มอาชีพทํานา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  6. กลุ่มอาชีพทําสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  10. กลุ่มผ้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามข้อ 9 
  11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  14. กลุ่มสตรี
  15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  17. กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
  20. กลุ่มอื่น ๆ

การมีลักษณะอื่น ๆ ในทํานองเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 13 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 ย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่น ๆ ตามข้อ 20 ได้

อ่านข่าวเพิ่ม : 

มีคำตอบ! "สว.มีไว้ทำไม" หน้าที่-สิทธิ-อำนาจ สภาสูงชุดที่ 13

จะเป็น สว. ต้องทำอย่างไร ? เช็กคุณสมบัติ - ลักษณะต้องห้าม ก่อนลงสมัคร

มาตรา 13 : คุณสมบัติผู้สมัคร

  • มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก
  • มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทํางานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี
  • ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
    • เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอําเภอที่สมัครรับเลือก
    • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอําเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
    • ทํางานอยู่ในอําเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
    • เคยทํางานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอําเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
    • เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอําเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา

ความในข้อ 3 ไม่ใช้บังคับแก่สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ซึ่งสมัครในกลุ่มตามมาตรา 11 (14) และ (15)

อ่านข่าวเพิ่ม : 

กกต.แจงยิบกฎ-กติกาขั้นตอนเลือก 200 สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13

"เลือกกันเอง" ที่มา สว.ชุดใหม่ ครั้งแรกการเมืองไทย

มาตรา 14 ลักษณะต้องห้ามผู้สมัคร

  • ติดยาเสพติดให้โทษ
  • เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  • เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  • ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  • เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกในระดับอําเภอ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  • เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
  • เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุก เพราะกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  • เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุด ว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม  หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
  • เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
  • อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
  • เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
    เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ
  • เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือ การกระทําด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่า โดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
  • เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง มีคําพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติ หน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
  • เป็นข้าราชการ
  • เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
  • เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
  • เป็นหรือเคยเป็นผู้ดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดํารงตําแหน่ง ในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
  • เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
  • เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
  • เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกัน หรือผู้ดํารงตําแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
  • เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ

อ่านข่าว : เรื่องน่ารู้ ก่อนเลือก สว.67 สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13 ของประเทศไทย

ที่มา : หนังสือ ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561

ข่าวที่เกี่ยวข้อง