กล้องฯ TESS พบปัญหาและหยุดการปฏิบัติการชั่วคราว


Logo Thai PBS
กล้องฯ TESS พบปัญหาและหยุดการปฏิบัติการชั่วคราว

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ประสบปัญหาทำให้ตัวระบบคอมพิวเตอร์ภายในตัดการทำงานเข้าสู่สถานะเซฟโหมด ขัดขวางการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ของตัวกล้องโทรทรรศน์

ภาพถ่ายกล้องโทรทรรศน์ TESS ขณะประกอบ

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Transiting Exoplanet Survey Satellite (TESS) หนึ่งในกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทำงานปฏิบัติหน้าที่ในการติดตามดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโดยอาศัยการที่ดาวเคราะห์เหล่านั้นผ่านหน้าดาวฤกษ์ของพวกมันหรือที่เรียกว่า Transit เป็นหลัก ซึ่งโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากทั้ง สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และ NASA

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS นั้นถูกออกแบบให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวฤกษ์บนท้องฟ้าโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ทั้ง 4 ตัวเก็บข้อมูลท้องฟ้ากล้องละ 24 องศา รวมแล้วสามารถบันทึกข้อมูลท้องฟ้าได้กว้างถึง 90 องศาในเวลาเดียวกัน ซึ่งกล้องทั้ง 4 ตัวถูกออกแบบให้ตรวจจับแสงในย่าน Red Shift ได้เป็นอย่างดี ตัวกล้องโทรทรรศน์มีเป้าหมายหลักในการเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของแสงดาวฤกษ์ครอบคลุม 75% ของดาวฤกษ์ในท้องฟ้าทั้งหมดตลอดระยะเวลา 2 ปีของภารกิจหลัก และทาง NASA อนุมัติให้ต่ออายุภารกิจของตัวกล้องโทรทรรศน์อวกาศไปอีกทำให้ตอนนี้ตัวกล้องนั้นปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 ปี

ภาพถ่ายทดสอบการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ TESS

ปัจจุบันตัวกล้องโทรทรรศน์อวกาศและระบบยานอวกาศยังอยู่ในสภาพดีและตัวกล้องโทรทรรศน์อวกาศน่าจะสามารถทำงานได้อีกนานตามที่ได้คาดการณ์ไว้ แต่ระหว่างรอบการปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์และปรับกำหนดการการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ ตัวยานอวกาศกลับตัดเข้าสู่โหมดหยุดการทำงาน หรือ เซฟโหมด เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2024 ซึ่งขัดขวางการปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ แต่โดยรวมแล้วกล้องโทรทรรศน์อวกาศและตัวยานยังอยู่ในสภาพที่ดี และยังสามารถทำงานในการสำรวจเอกภพได้อีกหลายปี

ภาพวาดดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ PIA23130 ที่ถูกติดตามโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS

หลังจากตรวจพบว่าซอฟต์แวร์เข้าสู่เซฟโหมด ทางทีมวิศวกรจะเร่งดำเนินการตรวจสอบการทำงานของ TESS และให้ตัวกล้องโทรทรรศน์สามารถกลับมาดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ต่อให้ได้เร็วที่สุดภายในไม่กี่วันข้างหน้า

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ถูกปล่อยออกจากโลกเมื่อ 18 เมษายน 2018 ซึ่งตลอดช่วงเวลาการปฏิบัติงานของกล้องสามารถตรวจจับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้มากถึง 7,138 ดวง ซึ่งสามารถพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่จากฐานข้อมูลเดิมอีก 66 ดวง ซึ่งนอกเหนือจากการติดตามการเปลี่ยนแปลงแสงของดาวฤกษ์เพื่อการตามหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ กล้องโทรทรรศน์อวกาศยังทำหน้าที่ในการทำแผนที่ดวงดาว และสามารถตรวจจับความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ จากแสงสว่างบนท้องฟ้า เช่น ในปี 2018 สามารถตรวจจับดาวฤกษ์ที่ถูกบดขยี้และถูกทำลายจากหลุมดำได้ รวมถึงการสั่นพ้องของดาวฤกษ์ในอวกาศ

ภาพตัวอย่าง กล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS

NASA มีแผนจะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเพื่อทำแผนที่ดวงดาวและติดตามความเปลี่ยนแปลงของแสงสว่างดาวฤกษ์ในท้องฟ้าเพื่อตรวจจับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและกิจกรรมของดาวฤกษ์ดวงอื่น ๆ อย่างภารกิจกล้องโทรทรรศน์อวกาศแนนซี โรมัน ที่มีกระจกสะท้อนแสงหลักขนาด 2.4 เมตร ซึ่งมีขนาดเท่ากับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และในภารกิจของกล้องโทรทรรศน์แนนซี โรมันยังใช้ชุดข้อมูลการตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของแสงสว่างดาวฤกษ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS เป็นฐานข้อมูลเพื่อสอนระบบ Machine Learning ตรวจจับการหมุนของดาวฤกษ์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล: NASA, NASA, NASA, NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กล้อง TESSกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESSTransiting Exoplanet Survey Satelliteกล้องโทรทรรศน์อวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ