Secret Story | “โมนา ลิซ่า” ห้าร้อยปีแห่งความงามอันเป็นปริศนา


Lifestyle

23 เม.ย. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
Secret Story |  “โมนา ลิซ่า” ห้าร้อยปีแห่งความงามอันเป็นปริศนา

แม้ภาพวาด “โมนา ลิซ่า” จะมีอายุยาวนานกว่า 500 ปีแล้ว แต่ผลงานที่ได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่ และมีมนต์ขลังมากที่สุดในโลกของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ภาพนี้ยังคงมัดหัวใจผู้คนไว้ได้อย่างไม่เสื่อมคลาย ...เหตุผลคืออะไร ? นี่คงเป็นคำถามในใจหลาย ๆ คน และ The World’s Greatest Paintings with Andrew Marr สุดยอดภาพเขียนบันลือโลก ซีรี่ส์เจาะลึกงานศิลปะสุดน่าสนใจของ แอนดรูว์ มาร์ ก็ประเดิมตอนแรกด้วยการพาเราไปหาคำตอบของคำถามที่ว่านี้

แอนดรูว์ มาร์ กับภาพวาด "โมนา ลิซ่า"

เราอาจเคยได้ยินเรื่องราววุ่นวายมากมายว่าด้วยต้นกำเนิดของภาพโมนา ลิซ่า บ้างบอกว่าเขาวาดภาพหญิงสาวลึกลับ บางคนเชื่อว่าเขาวาดภาพตัวเองในยุคสมัยที่การเปิดเผยความเป็นเกย์ยังเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ แอนดรูว์ มาร์ เชื่อว่าจริง ๆ แล้วมันสุดจะเรียบง่าย มันเป็นเพียงภาพเหมือนที่พ่อค้าชาวฟลอเรนซ์ผู้มั่งคั่งคนหนึ่งว่าจ้างดา วินชีในปี 1503 ให้วาดภาพภรรยาของเขาด้วยความตั้งใจจะติดประดับบ้านหลังใหม่ 

แต่วิสัยทัศน์และความกล้าหาญทางศิลปะของดา วินชีกลับยกระดับมันให้กลายเป็นงานไร้เทียมทานที่พลิกโฉมขนบธรรมเนียมยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอย่างน่าทึ่ง 

ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางตำแหน่งท่าทางของผู้เป็นแบบให้เอียงข้างเล็กน้อยแล้วสบตากับผู้ชมตรง ๆ (ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติวงการการวาดภาพบุคคลในยุคกลาง) การใช้มิติความลึกแบบทัศนียภาพเป็นครั้งแรก และการใช้เทคนิค sfumato (เทคนิคการไล่น้ำหนักความมืดสว่างในภาพให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ลบรอยตัดของเส้น ขอบ เหลี่ยมสันในภาพให้เกิดความนุ่มนวล ฟุ้งละมุน) ในการเกลี่ยแสงเงาจนทำให้ริมฝีปากของโมนา ลิซ่าทั้งดูมีชีวิตชีวาและลึกลับน่าค้นหา

ภาพวาดโมนา ลิซ่า

ความเก่งกาจของดา วินชียังเกิดจากการที่เขาเป็นศิลปินที่โอบรับความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้อย่างเต็มที่ เขาจริงจังกับการศึกษากายวิภาคศาสตร์จนทำให้งานของเขามีความสมจริงและ “มีชีวิต” เราอาจพูดได้เลยด้วยซ้ำว่าดา วินชีงัดเอาทุกเทคนิควิชาที่เรียนรู้ค้นคว้ามา ทดลองใช้กับภาพนี้ และมันก็ส่งผลให้เขาถึงขั้นหลงใหลผลงานของตัวเองจนตัดสินใจเก็บไว้ไม่ยอมส่งมอบให้ผู้ว่าจ้าง แถมยังแก้ไข วาดทับ ฯลฯ ครั้งแล้วครั้งเล่าจนภาพเปลี่ยนแปลงจากต้นฉบับแรกไปมหาศาล

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นงานเอกอุของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา แต่น่าสนใจมากที่แท้จริงแล้วภาพโมนา ลิซ่าในตอนนั้นยังแทบไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนสักเท่าไหร่เลย ยิ่งเมื่อดา วินชีนำมันไปยังฝรั่งเศสและลงเอยด้วยการที่ตัวภาพไปตกอยู่ในคอลเลกชันของราชสำนักฝรั่งเศสร่วม 200 ปีด้วยแล้ว มันก็ยิ่งอยู่พ้นจากการรับรู้ของคนวงกว้างออกไปอีก

...จนกระทั่งด้วยฝีมือของโจรคนหนึ่ง งานชิ้นนี้จึงได้กลายเป็นงานศิลปะโด่งดังของโลกไปในชั่วพริบตา !

ด้วยความที่เป็นรายการซึ่งมุ่งเจาะลึกคุณค่าทางศิลปะของชิ้นงาน แอนดรูว์ มาร์จึงเล่าเรื่องดังกล่าวไว้ไม่ละเอียดนัก ผู้เขียนเลยขอเล่าเกี่ยวกับการโจรกรรมอันแสนอุกอาจครั้งนี้เพิ่มเติมสักเล็กน้อย

ภาพโมนา ลิซ่า หายวับไปจากผนังของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ โดยเจ้าหน้าที่ไม่รู้ตัว

เรื่องราวเริ่มต้นในวันที่ 21 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1911 เมื่อภาพวาดโมนา ลิซ่าถูกชายหนุ่มชาวอิตาเลียนชื่อ วินเซนโซ เปรูเจีย อดีตพนักงานพิพิธภัณฑ์ผู้คลั่งชาติอย่างรุนแรงขโมยไปกลางวันแสก ๆ จากผนังพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ด้วยความเชื่อที่ผิดเพี้ยนว่า โมนา ลิซ่า ถูกปล้นจากอิตาลีจึงสมควรถูกนำส่งกลับคืน โดยเปรูเจียซ่อนภาพวาดไว้ในหีบภายในห้องพักของเขาเองอยู่ถึง 2 ปีเต็ม ขณะที่ในโลกภายนอกนั้น ข่าวการหายไปของมันเริ่มแพร่สะพัด สร้างความตกตะลึงให้แก่สังคมและนำมาซึ่งการออกไล่ล่าตามหาอย่างบ้าคลั่ง

ภาพวินเซนโซ เปรูเจีย ปี ค.ศ. 1911

เบื้องต้น พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์คาดการณ์ด้วยความสับสนว่าอาจจะเป็นการทุจริตภายใน จึงจัดการไล่สอบสวนพนักงานทั้งหมดอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับที่มีคนปั้นทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับการโจรกรรมขึ้นมากมาย (เช่น เยอรมนีอาจส่งคนมาปล้น, คหบดีชาวอเมริกันขโมยไปเพื่อเรียกค่าไถ่ หรือแม้แต่ศิลปินหนุ่มในตอนนั้นอย่าง ปาโบล ปิกัสโซ่ ก็ยังพลอยถูกตำรวจปารีสสงสัย เพราะสังคมเชื่อว่าศิลปินแนวหน้าล้วนอยากทำลายหรือไม่ก็ขโมยงานศิลปะชิ้นนี้ไปดัดแปลงทั้งนั้น)

หนังสือพิมพ์ลงข่าวการหายไปของภาพโมนา ลิซ่าอย่างครึกโครม

เมื่อเปรูเจียปรากฏตัวอีกครั้งในปี 1913 เพื่อพยายามจะนำภาพส่งกลับอิตาลีแลกกับเงินสด ข่าวการโจรกรรมก็ถูกเปิดเผย ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับข่าวต่าง ๆ นานาตลอดสองปีที่ผ่านมา 

มันก็กลายเป็นการตอกย้ำให้ผู้คนต้องจดจำว่าภาพนี้เป็นที่ปรารถนาของโลกขนาดไหน 

จากสมบัติยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอันวิจิตรบรรจงที่เป็นที่รู้จักของคนแค่ในบางพื้นที่ กลายมาเป็นงานโด่งดังที่ถูกพูดถึงทั่วทุกทวีป หรืออาจจะสรุปง่าย ๆ ได้ว่า การโจรกรรมครั้งนี้ได้ผลักดันให้ “งานศิลปะ” ก้าวเข้าสู่แวดวงวัฒนธรรมป๊อปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

แม้การกระทำของเปรูเจียจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของคนคลั่งชาติพิลึกพิลั่น แต่น่าสนใจเช่นกัน ที่มันก็เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้อิตาลีเอาจริงเอาจังกับความพยายามทวง “สมบัติชาติ” กลับคืนผ่านทั้งช่องทางการทูต การประท้วง และคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศ แต่ฝรั่งเศสยังคงปฏิเสธเด็ดขาด (ถึงขั้นไม่ให้ยืมภาพโมนา ลิซ่า ไปจัดแสดงชั่วคราว) โดยทั้งพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์และกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศสยืนยันหนักแน่นว่า ผลงานชิ้นเอกจากศตวรรษที่ 16 นี้ มีค่าเกินกว่าจะยอมเสี่ยงย้ายออกจากสภาพแวดล้อมที่ควบคุมอย่างระมัดระวัง แม้จะเป็นการนำกลับไปยังบ้านเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ก็ตาม

การแย่งชิงกรรมสิทธิ์ระหว่างประเทศนี้ยิ่งช่วยเสริมภาพลักษณ์ของโมนา ลิซ่า ในแง่ของความพิเศษเฉพาะตัวหรือการเข้าถึงได้ยาก และยิ่งทำให้ผู้คนหลงใหลใฝ่ฝันอยากได้เห็นมันสักครั้ง มันกลายเป็นงานที่มีผู้คนแห่กันเข้าชมมากที่สุดในโลก นักท่องเที่ยวและคนรักศิลปะยอมต่อคิวยาวเหยียดแลกกับการได้เห็นและถ่ายภาพไม่กี่วินาที รัศมีแห่งความลึกลับของหญิงสาวในภาพขยายตัวจากศูนย์กลางของราชสำนักไปสู่การเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม โดยไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ร้อยปี ความเย้ายวนของสายตา ตลอดจนเสน่ห์ของรอยยิ้มเย้ยเยาะน้อย ๆ ของเธอก็ไม่เคยเสื่อมมนต์ลงเลย

▶ สารคดี The World's Greatest Paintings with Andrew Marr สุดยอดภาพเขียนบันลือโลก เล่าเรื่องราวเบื้องหลัง 10 ภาพวาด งานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกตลอดกาล อาทิ ภาพวาดของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์, ปาโบล ปิกัสโซ่, ซานโดร บอตติเชลลี หรือโกลด มอแน ฯลฯ ดำเนินรายการโดยแอนดรูว์ มาร์ ผู้หลงใหลในศิลปะและภาพเขียน รับชมได้ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application

แท็กที่เกี่ยวข้อง

VIPAdotMeสารคดี VIPAVIPASecret Storyสารคดี The World's Greatest Paintings with Andrew Marr สุดยอดภาพเขียนบันลือโลกโมนา ลิซ่าMona Lisaงานศิลปะประวัติศาสตร์ศิลปะเลโอนาร์โด ดา วินชีLeonardo da Vinciยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ภาพวาดโมนา ลิซ่าวินเซนโซ เปรูเจีย
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ