“กล้องฯ ไอน์สไตน์โพรบ” กล้องโทรทรรศน์ตากั้ง ความร่วมมือทางอวกาศระหว่างยุโรปและจีน


Logo Thai PBS
“กล้องฯ ไอน์สไตน์โพรบ” กล้องโทรทรรศน์ตากั้ง ความร่วมมือทางอวกาศระหว่างยุโรปและจีน

กล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบ (Einstein Probe Space Telescope) กล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอ็กซ์มุมกว้างที่มีการออกแบบคล้ายตากั้ง พร้อมส่งภาพถ่ายแรกกลับมา แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการใช้งานตรวจจับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของจักรวาลผ่านรังสีเอ็กซ์

ภาพตาของกั้งตั๊กแตนเจ็ดสีซึ่งเป็นเอกลักษณ์และแนวคิดในการสร้างเลนส์หักเหรังสีเอ็กซ์ในกล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบ

กล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบ (Einstein Probe Space Telescope) เป็นโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ได้รับความร่วมมือระหว่างสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CSA) กับองค์การบริหารอวกาศยุโรป (ESA) เพื่อใช้ในการตรวจจับเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ที่รุนแรงและปลดปล่อยรังสีเอ็กซ์ออกมา โดยที่มีภารกิจประสานงานร่วมกับกล้องโทรทรรศน์รังสีเอ็กซ์อื่น ๆ ทั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ XMM-Newton และ XRISM ที่ทาง ESA ร่วมมือกับ JAXA

ภาพวาดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบ

กล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบนี้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่เมื่อมกราคม 2024 ที่ผ่านมาโดยอาศัยจรวด Long March 2C ของจีน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างช่วงการเทียบค่าของอุปกรณ์วิทยาศาสตร์บนกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอ็กซ์นี้มีทัศนูปกรณ์ที่แตกต่างจากกล้องตัวอื่น โดยที่จะมีตัวเลนส์อันโดดเด่นเป็นเลนส์หักเหแสงเอ็กซ์ที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายตาประกอบ (Compound Eye) ของกั้งซึ่งคุณสมบัติของโครงสร้างเลนส์คล้ายกับตากั้งนี้ทำให้มุมมองของกล้องกว้างขึ้นมากถึงและสามารถตรวจจับภาพท้องฟ้าได้ครบภายในการโคจรรอบโลกเพียง 3 รอบเท่านั้น

ภาพถ่ายมุมกว้างของกาแลกซีทางช้างเผือกจากกล้อง WXT ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบ ที่แสดงให้เห็นจุดเหตุการณ์ที่ปลดปล่อยรังสีเอ็กซ์ออกมา ซึ่งแสงเอ็กซ์ที่ผ่านเลนส์คล้ายตากั้งของกล้องจะให้ภาพคล้ายเครื่องหมายบวกบนภา

อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ภายในตัวกล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบมีสองตัวคือตัวอุปกรณ์ Wide-field X-ray Telescope (WXT) ที่เป็นตัวเลนส์หักเหแสงเอ็กซ์ที่มีโครงสร้างตากั้ง เพื่อใช้ในการตรวจจับเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ผ่านรังสีเอ็กซ์ในมุมกว้าง ประกอบด้วยชุดเลนส์ตากั้งทั้งหมด 12 ชุด และ Follow-up X-ray Telescope (FXT) กล้องถ่ายภาพรังสีเอ็กซ์มุมมองแคบเพื่อใช้ในการติดตามมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจาก WXT อีกที

ด้วยคุณสมบัติที่สามารถมองปรากฏการณ์ทางรังสีเอ็กซ์ด้วยมุมมองที่กว้างของกล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบ ทำให้ภารกิจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศนี้คือการติดตามเหตุการณ์ทางรังสีเอ็กซ์ที่ปะทุขึ้นภายในเอกภพ ทั้งเหตุการณ์การปะทุขึ้นของรังสีเอ็กซ์จากหลุมดำ เหตุการณ์การชนกันของดาวนิวตรอน และตรวจจับแหล่งกำเนิดรังสีเอ็กซ์ที่แปรผันจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ในเอกภพ

ภาพถ่าย Omega Centauri ที่ถูกถ่ายด้วยกล้อง FXT บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบ

ในระหว่างการเทียบค่าของอุปกรณ์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตัวอุปกรณ์ WXT ได้ตรวจจับเหตุการณ์การปลดปล่อยของรังสีแกมมาที่ปลดปล่อยออกมานานมากถึง 100 วินาที และในวันที่ 20 มีนาคม WXT ก็สามารถติดตามการปะทุขึ้นของรังสีเอ็กซ์ขึ้นมาได้ ซึ่งในครั้งนี้ได้ใช้งานตัวอุปกรณ์ FXT ภายในตัวกล้องเพื่อติดตามการปลดปล่อยรังสีเอ็กซ์ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่แปลกมากที่แม้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บนกล้องจะยังไม่ได้รับการเทียบค่าอย่างสมบูรณ์ตามแผนที่ได้วางไว้ แต่ก็สามารถตรวจจับเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ได้อย่างรวดเร็ว และใช้งานอุปกรณ์ FXT เพื่อติดตามเหตุการณ์เหล่านั้น ซึ่งมันแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุปกรณ์และความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจของตัวกล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบนี้

ภาพถ่ายซากการระเบิดของซูเปอร์โนวา Puppis A ในย่านรังสีเอ็กซ์ด้วยกล้อง FXT ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบ

การเทียบค่าของอุปกรณ์บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบจะดำเนินต่อไปจนครบกำหนดคือช่วงเดือนมิถุนายนและจะเริ่มเข้าสู่ช่วงการใช้งานจริงของตัวกล้องตามแผนที่ได้วางไว้ที่อายุการใช้งาน 3 ปี กล้องโทรทรรศน์อวกาศมีวงโคจรที่อยู่สูงขึ้นไปจากโลกที่ 600 กิโลเมตร และทำหน้าที่เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์รังสีเอ็กซ์บนองฟ้าควบคู่กับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอ็กซ์อื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการศึกษาทางดาราศาสตร์เชิงลึกต่อไป

Einstein_Probe_illustration

ตัวกล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบเป็นโครงการที่ทาง ESA เข้าไปสนับสนุนทาง CSA ในด้านการเทียบอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ และการรับส่งสัญญาณจากทางสถานีภาคพื้นดิน จากการสนับสนุนดังกล่าวทาง ESA จะมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบมากถึง 10% ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่จะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการศึกษาด้านจักรวาลวิทยาเชิงลึกร่วมกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์อื่น ๆ ต่อไป

เรียบเรียงโดย : จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร : ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS  

ที่มาข้อมูล: ESA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กล้องฯ ไอน์สไตน์โพรบกล้องโทรทรรศน์อวกาศไอน์สไตน์โพรบEinstein Probe Space Telescopeกล้องโทรทรรศน์ตากั้งกล้องโทรทรรศน์กล้องโทรทรรศน์อวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ