ยานมาร์ส เอ็กซ์เพรส (Mars Express) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) เผยภาพพื้นผิวดาวอังคาร แสดงให้เห็นสิ่งที่ดูคล้ายกับแมงมุมกระจายทั่วบริเวณ “Inca City” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ขั้วใต้ของดาวอังคาร
สำหรับประเด็นข้างต้น NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้ความรู้ว่า แท้จริงแล้ว สิ่งที่เห็นนี้ไม่ได้เป็นตัว ๆ หรือเป็นชิ้นเป็นอันเลย แต่เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิบนดาวอังคาร เมื่อแสงอาทิตย์ที่มากขึ้นได้อุ่นชั้นน้ำแข็งแห้ง (คาร์บอนไดออกไซด์เยือกแข็ง) ที่ทับถมสะสมตัวกันในช่วงฤดูหนาวอันมืดมิด ทำให้น้ำแข็งแห้งที่อยู่ชั้นล่าง ๆ ระเหิดเป็นแก๊ส เมื่อมีแก๊สสะสมมากพอ แก๊สก็จะดันน้ำแข็งชั้นบนที่มีความหนาราว 1 เมตร ให้เกิดรอยแตกได้
ไม่เพียงเท่านั้น แก๊สที่พุ่งขึ้นมาตามรอยแตกยังพัดพา "ฝุ่นสีคล้ำ" จากใต้ผิวดินขึ้นมาด้วย ทำให้เกิดพวยพุของฝุ่นที่พุ่งออกมาเหนือชั้นน้ำแข็ง คล้ายกับน้ำพุร้อนบนโลก รอยแตกที่เต็มไปด้วยฝุ่นนั้นมีความกว้างตั้งแต่ 45 เมตร - 1 กิโลเมตร ขนาดค่อนข้างใหญ่จนสังเกตเห็นได้จากยานสำรวจ แต่พอเรามองภาพถ่ายของยานผ่านจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือ ดันรู้สึกเหมือนมีแมงมุมตัวเล็ก ๆ หลาย ๆ ตัว ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันใหญ่กว่าตัวเรามากทีเดียว
พื้นที่ Inca City บนดาวอังคาร มีอีกชื่อหนึ่งว่า "Angustus Labyrinthus" เป็นบริเวณที่มีลักษณะเป็นแนวสันเขายาวพาดผ่านตัดไขว้กันไปมา จนมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม เรียงเป็นชุดดูคล้ายซากโบราณสถานของจักรวรรดิอินคา อาณาจักรขนาดใหญ่แถบทวีปอเมริกาใต้ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ภูมิประเทศทั้งหมดนั้นอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะค่อนข้างกลม กว้างประมาณ 85 กิโลเมตร นักดาราศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่า Inca City ก่อตัวขึ้นมาอย่างไร แต่สันนิษฐานว่าอาจเป็นหลุมอุกกาบาตที่เกิดแนวสันเขาขึ้นจากลาวาที่เอ่อขึ้นมาตามรอยแตกของเปลือกดาวอังคาร หรืออาจเป็นแนวเนินทรายที่กลายเป็นแนวสันหินเมื่อเวลาผ่านไป รวมถึงอาจเป็นแนวสะสมตะกอนตามธารน้ำแข็งได้ที่เรียกว่าเนินรูปงู (esker)
ภาพถ่ายพื้นที่บริเวณ Inca City นี้ ถ่ายโดยกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง (กล้อง HRSC) ของยานมาร์ส เอ็กซ์เพรส เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024 ในช่วงฤดูใบไม้ผลิทางซีกใต้ของดาวอังคาร ซึ่งก่อนหน้านี้ กล้องถ่ายภาพบนยาน Exomars Trace Gas Orbiter เคยถ่ายภาพร่องรอยคล้ายแมงมุมแบบนี้บนพื้นผิวใกล้ขั้วใต้ของดาวอังคาร เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : space, พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech