จากเด็กชอบเลข สู่อาชีพ Data Scientist เจ้าของ Startup ดาวรุ่งในฝรั่งเศส


Logo Thai PBS
จากเด็กชอบเลข สู่อาชีพ Data Scientist เจ้าของ Startup ดาวรุ่งในฝรั่งเศส

Summer sale !  Winter sale ! เทศกาลลดราคาสินค้าของเหล่าบรรดาแบรนด์ดังต่าง ๆ ที่เราจะเห็นป้ายสินค้าทุกชิ้นลด 50%
แต่จะดีกว่าไหม ถ้า “ลดราคาสินค้า” แล้วยังทำให้ร้านยังมีกำไรมากขึ้น ?
และมันจะดีกว่าไหม ถ้าใช้ AI ช่วยกำหนดราคาสินค้า “หมื่นชิ้น” จาก “หมื่นชอป” ทั่วโลก แทนการใช้มือหรือ Excel

และนี่คือ อาชีพ Data Scientist ของ “รตา สุวรรณทอง” co-founder และ CEO ของสตาร์ตอัป (Starup) วัย 34 ปี ที่นำ AI มาช่วยพยากรณ์เทรนด์สินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อตั้งราคาสินค้าที่เหมาะสมที่สุด รักษาสมดุลระหว่างยอดขายกับราคา

“รตา” เด็กผู้หญิงชอบเรียนเลข ที่มีความฝันอยากทำงานด้านวิศวอวกาศ สู่การเป็น Data Scientist ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปที่ช่วยพยากรณ์อนาคตให้กับธุรกิจค้าปลีก จนถูกเลือกไปออกรายการสตาร์ตอัปดาวรุ่งของประเทศฝรั่งเศส คนที่ทำให้สตาร์ตอัปทั่วโลก “ทึ่ง” ว่าคนไทยเอง “เก่ง !  ไม่แพ้ใครในโลก” และนี่คือเหตุผลที่ Thai PBS Sci & Tech ชวนเธอมาพูดคุยกันในครั้งนี้

สาวไทยหน้าคม พูดภาษาฝรั่งเศสฉะฉาน เกริ่นถึงที่มาที่ไปของการไปออกรายการโทรทัศน์ในฝรั่งเศส โดยเธอเริ่มเล่าย้อนไปว่า เธอเองนั้นเป็น CEO และ co-founder ของสตาร์ตอัปที่มีชื่อว่า “Differs” ตั้งอยู่ที่ฝรั่งเศส ทำ AI ให้กับธุรกิจค้าปลีก สตาร์ตอัปของเธออยู่ในกลุ่ม Station F ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสำหรับสตาร์ตอัป ได้รับการขนานนามว่าเป็น “โรงงานสตาร์ตอัปที่ใหญ่ที่สุดในโลก” โดยในทุกสัปดาห์ในกลุ่มจะเลือก 2 สตาร์ตอัปไฟแรง ให้ไปออกรายการทีวี โดยสตาร์ตอัปของเธอถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในนั้น

“ลดราคาสินค้า” นับหมื่นชิ้น “ให้มีกำไร” ได้ด้วย AI

ทุกวันนี้ AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้น และแทบทุกสาขาอาชีพ รวมไปถึงธุรกิจค้าปลีกเช่นกัน และทุกวันนี้ความสามารถในการพยากรณ์อนาคตส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของบริษัทระดับท็อป อย่าง Amezon ในขณะนี้ แบรนด์ต่าง ๆ ถึงแม้จะมีข้อมูลพร้อม แต่กลับไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจ้าง Data Scientist หรือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล มาอยู่ในบริษัท หรือต่อให้จ้างมาแล้วก็จะมีปัญหาเรื่องการย้ายงานบ่อย

รตา อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า สตาร์ตอัปของเธอนั้น เป็นเหมือน “อาหารสำเร็จรูป” เป็นโซลูชันที่สามารถนำไปใช้ได้เลย โดยไม่ต้องจ้างเชฟมิชลินมาทำให้ที่บ้าน จะทำให้ธุรกิจค้าปลีกแบรนด์อื่น ๆ มีความสามารถในการพยากรณ์ได้เท่ากับที่ Amezon ทำ

การใช้ Data Science เข้ามาพยากรณ์ธุรกิจค้าปลีก

ถามว่า AI พยากรณ์อนาคตให้กับธุรกิจค้าปลีกได้อย่างไร ? AI จะมาช่วยในการตั้งราคาสินค้าที่เหมาะสุด ที่จะรักษาสมดุลระหว่างยอดขายกับราคา แน่นอนว่า ต้นทุนการผลิตสินค้า เช่น สีแต่ละสีอาจจะมีราคาเท่ากัน ร้านตั้งราคาบวกกำไรแล้วจึงขายราคาเท่ากัน แต่ในความเป็นจริง Demand ของแต่ละสีต่างกัน สีแดงคนอาจจะชอบมากกว่า ขายดีกว่า ขายแพงได้ก็ไม่จำเป็นต้องลดราคา

นั่นคือโจทย์สำคัญที่จะตั้งราคาอย่างไร กับสินค้าที่มีเป็น “หมื่นชิ้น” ใน “หมื่น Shop” ทั่วโลก ซึ่งปกติทางร้านจะใช้มือทำ หรือ Excel โดยจะคำนวนแบบเหมารวม จึงเป็นที่มาของการใช้ Predictive AI นวัตกรรมการใช้ปัญญาประดิษฐ์พยากรณ์อุปทาน-อุปสงค์สินค้าในตลาด ให้สอดคล้องกัน เหมือนเป็นการกำหนดราคาขายสินค้า โดยมีปัจจัยอ้างอิงอื่น ๆ ประกอบ

เช่น ข้อมูลการซื้อขายในแต่ละชอป หรือบนเว็บไซต์ แต่ละสัปดาห์ขายได้เท่าไร สีอะไร รุ่นอะไร มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเป็นใคร รวมไปถึงสถานที่ตั้งของชอปนั้น ๆ อยู่ในเมือง ในห้างขนาดใหญ่ หรืออยู่ชานเมือง นอกจากนี้ เรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจ โรคระบาด ดัชนีหุ้น ซึ่งทุกอย่างมีผลต่อการนำไปวิเคราะห์

 SaaS หรือ Software as a Service เป็นการให้บริการในด้านซอฟต์แวร์รูปแบบหนึ่งที่ผู้ใช้บริการสามารถใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต

“เราเป็น SaaS หรือ Software as a Service การให้บริการในด้านซอฟต์แวร์รูปแบบหนึ่งที่ผู้ใช้บริการสามารถใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต โดยสามารถสมัครสมาชิกและเข้าใช้งานได้ทันที เป็น Business model ที่กำลังมาแรงในวงการสตาร์ตอัปของโลก เราใช้ข้อมูลทุกอย่างที่มีในการประมวลผล ใช้ DATA เยอะที่สุดเท่าที่สามารถหาได้ และทาง Machine Learning จะมีเทคนิคคัดกรองข้อมูลที่ไม่น่าสนใจออกไปเอง” รตา อธิบายโซลูชันของธุรกิจ

หญิงเก่งผู้ก่อตั้ง Differs เปรียบสตาร์ตอัปเหมือนกับ Alice In Borderland ทุกครั้งที่ชนะเกมมาได้ ก็จะมีโอกาสอยู่ได้กี่วัน ๆ และเล่นเกมต่อไป โดยเธอตั้งเป้าไว้กลางปีหน้า จะต้องระดมทุนให้ได้ เพื่อที่จะก้าวไปอยู่ขั้นต่อไปคือ Seed (ระดับของสตาร์ตอัป เริ่มตั้งแต่ Pre-seed, Seed, Series A, Series B, Series C) และเตรียมตัวขึ้นสู่ Series A ซึ่งจะระดมทุนได้ต้องมีลูกค้ารายแรก และเรื่องราว Success Story การันตีให้ว่าธุรกิจนี้น่าลงทุน

สังคมมักดูที่ “ผลลัพธ์” จนลืมนึกถึง “จุดเริ่มต้น”

การที่จะก้าวผ่านมาอยู่จุดนี้ ได้ “รตา” บอกว่า เธอเรียนหนักตั้งแต่เด็ก ๆ แต่สังคมมักจะดูที่ “ผลลัพธ์” จนลืมคิดไปว่า “จุดเริ่มต้น” เป็นอย่างไร “ระหว่างทาง” ที่มาเป็นอย่างไร

“เมื่อก่อนรตาดูหนังที่บอกว่า ไม่ว่าใครก็สามารถประสบความสำเร็จได้ แต่พอโตขึ้น ‘เฮ้ยยย ! ไม่จริงอ่ะ ความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่จริง’ ดังนั้น เมื่อเราก้าวไปถึงจุดหนึ่งได้ อย่ามองเทียบกับคนอื่น แต่อยากให้มองว่า เรามาจากจุดไหน เราข้ามไปกี่ขั้นแล้ว ซึ่งต่อให้วันนี้ Differs ไม่ประสบความสำเร็จ เราก็ข้ามมาได้เท่านี้แล้ว เราแฮปปี้แล้ว”

สำหรับน้อง ๆ ที่อยากทำสตาร์ตอัป ในฐานะที่ผ่านประสบการณ์มาก่อน แนะนำให้ทำงานกับบริษัทก่อน การทำสตาร์ตอัปคือการทำโซลูชันให้บริษัทไปใช้ ลูกค้าเราก็คือบริษัท เราจะไม่มีวันเข้าใจเลยว่าลูกค้าเราต้องการอะไรถ้าเราไม่ได้ทำบริษัทมาก่อน

“คนที่ทำสตาร์ตอัปโดยที่ไม่ได้ทำบริษัทมาก่อนก็จะคิดไปเองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เทคโนโลยี จริง ๆ ไม่ใช่ สิ่งสำคัญคือ Business use case เช่น คนอยากกินกะเพรา ค่อยไปหาว่าหมู ไก่ กุ้ง ที่ร้านไหน แต่เรามัวคิดว่าอยากทำอะไรก็ได้ที่ใช้กุ้ง บางทีคนเขาก็ไม่ได้อยากกิน”

รตา สุวรรณทอง ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง "Diffres" Startup ดาวรุ่งในฝรั่งเศส

การใช้ชีวิตแบบ Step by Step

ย้อนเล่าชีวิตวัยเด็กของ ด.ญ. รตา มีพ่อเป็นวิศวกร เกิดที่กรุงเทพฯ รตาบอกว่า เมื่อเกิดที่กรุงเทพฯ โอกาสในชีวิตก็มากกว่าคนอื่น ๆ ตอนอนุบาล ชอบเรียนคณิตศาสตร์ พ่อเห็นว่าชอบเลขก็สอนให้ตั้งแต่ 3-4 ขวบ โดยมีหลักการสอนที่ว่า ไม่ว่ารตาจะเรียนอยู่ชั้นอะไร ต้องเรียนเลขบวกไปอีก 2 ปี ถ้าอยู่ ป.1 ทำเลขของ ป.3 ถ้าอยู่ ป.2 ทำเลขของ ป.4

เมื่อเราโตมาแบบนี้เวลาสอบจริงก็เหมือนสอบย้อนหลังไป ทำให้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ออกมาดีมาโดยตลอด เพราะเราเริ่มไปก่อนแล้ว จนทำให้สอบเข้า รร.สาธิตเกษตรฯ ได้ เพราะพ่อช่วยสอนได้เยอะโดยไม่ได้เรียนพิเศษใด ๆ เมื่อโตขึ้นสัก 6-7 ขวบ ชอบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และเริ่มเข้าใจว่า Center of Technology ไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย ถ้าเราอยากเข้าไปอยู่จริง ๆ เราต้องไปฝั่งตะวันตก ก็ต้องสอบชิงทุนไปให้ได้ ซึ่งการจะสอบชิงทุนได้ ต้องตั้งใจเรียนตั้งแต่เด็ก

สำหรับทุนที่รตาได้นั้น เป็นทุนศึกษาต่อระดับปริญญาตรีของรัฐบาลฝรั่งเศสที่มอบให้เด็กไทย 5 ทุน จากกรณีที่รัฐบาลไทยเซ็นสัญญาซื้อดาวเทียมกับบริษัทฝรั่งเศส ขณะที่ ทุนปริญญาโท และปริญญาเอก ได้รับจากรัฐบาลฝรั่งเศส จึงอยู่เรียนต่อที่ฝรั่งเศส และกลับมาเป็นนักวิจัยที่ประเทศไทย โดยเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว บริษัทในไทยเริ่มเล็งเห็นถึงการพยากรณ์อนาคตด้วยการใช้ DATA แต่มหาวิทยาลัยยังไม่ได้ผลิตบุคลากรออกมา จึงไปดึงจากนักวิจัย นักฟิสิกส์ จากห้องแล็ป และได้พบเราก่อนชักชวนให้ไปทำงานที่บริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง ตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเปลี่ยนชีวิตเลย

“ไม่ว่าคุณจะทำเปเปอร์งานวิจัย หรือจะทำสมการอัลกอริทึมให้กับบริษัท มันยากเท่ากันเลย แต่สิ่งที่ต่างกัน คือ เวลาทำให้บริษัท สิ่งที่เราทำจะใช้วันนั้นเลย และเห็นผลลัพธ์ในทันที ขณะที่เวลาทำวิจัยเขียนเปเปอร์ก็ไม่รู้ว่าคนจะใช้หรือเปล่า รตาเลยชอบการทำ DATA ให้กับบริษัท ที่สำคัญก็คือได้หัวหน้าดีด้วย เชื่อในตัวเรา ต่อให้เรามาจากวิจัยไม่เคยทำ DATA มาก่อนเขาก็ให้โอกาสเรา และเชื่อมั่นใจตัวเรา เขาเก่งด้วยจึงได้โปรเจกต์ใหญ่ ๆ และมอบหมายให้เราทำ ทำให้เราได้เรียนรู้”

อายุ 20-29 ต้องหาหัวหน้าเก่ง ?

เจ้าของสตาร์ตอัป เผยว่าได้ดูคลิปที่ “แจ็ค หม่า” บอกว่าแต่ละช่วงชีวิตควรมีเป้าหมายอะไร ซึ่งช่วงอายุ 20-29 ปี ต้องหาหัวหน้าเก่ง เพราะเรายังไม่มี Power พอที่จะไปหว่านล้อมคนอื่น ชีวิตเราช่วงวัยนั้นจะค่อนข้างขึ้นอยู่กับหัวหน้า ว่าหัวหน้าเราเขาเก่งพอที่จะไปเอาโปรเจกต์ดี ๆ ได้หรือไม่ เก่งพอที่ชักจูงใจกับคนในบริษัทแค่ไหน ดังนั้นหัวหน้าเก่งจึงสำคัญมาก

นอกจากนี้ หัวหน้าเก่งต้องมีเรื่องความเข้ากันได้ของหัวหน้ากับลูกน้องด้วย ต้องหาให้แมตช์กันดี ๆ “แต่ถ้าหัวหน้าไม่ดีแนะนำให้เปลี่ยนนะคะ น้อง ๆ ที่ยังอายุไม่ถึง 29” (หัวเราะ) รตามองว่า เวลามันผ่านไปเร็ว พออายุ 30 ปี เราต้องเริ่มมาคิดแล้วว่า เราอยากจะขึ้นไปสูง ๆ ในบริษัทที่มีอยู่แล้ว หรืออยากจะมีบริษัทเป็นของตัวเอง การเริ่มเปลี่ยนสายงานเริ่มยากแล้ว

เมื่อมี “โอกาส” ต้องกล้า “กระโจน” เข้าไป

รตา เล่าถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาคือการ “Sprint” การทำงานในรูปแบบการสร้างจังหวะเวลาของงานในลักษณะ Time Boxed เป็นการวางแผนงานให้อยู่ในกรอบของระยะเวลา สำหรับตัวของรตาแล้ว คือ Sprint ถึง ม.6 โดยมี Goal คือ สอบชิงทุนไปต่างประเทศให้ได้ จากนั้น พอไปได้แล้ว Sprint 2 คือ ขึ้นมหาวิทยาลัยท็อป ๆ ของประเทศให้ได้ ซึ่งรตาสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่หนึ่งของประเทศฝรั่งเศส พอทำได้แล้วก็นำมาสู่ Sprint 3 กลับมาทำงานที่ประเทศไทย โดยใช้ทุน และ Sprint 4 กลับไปอยู่ฝรั่งเศส เริ่มต้นทำงานในบริษัทเล็ก ๆ จนได้ไปอยู่ในบริษัทใหญ่ ขณะที่ปัจจุบันช่วงชีวิตอยู่ที่ Sprint 5 ออกมาสร้างบริษัทเป็นของตัวเอง

“การใช้ชีวิตที่ผ่านมาเป็นแบบ Sprint และอย่าวางแผนเยอะมากขนาดนั้น อย่างรตาตอนเด็ก ๆ อยากเป็นนักวิจัย รตาจบปริญญาตรีฟิสิกส์ ปริญญาโทการบิน ปริญญาเอกคณิตศาสตร์ แต่สุดท้ายมาเป็นนักธุรกิจ เพราะโลกมันเปลี่ยน เราก็ต้องพร้อมเปลี่ยน ถ้ามีโอกาสให้กระโจนเข้าใส่ก็ต้องทำ เมื่อสมัยที่รตาเด็ก ๆ ไม่รู้หรอกว่าจะมีอาชีพ ชื่อ Data Science ไม่รู้หรอกว่าจะมีบริษัทเอกชนที่จะหานักคณิตศาสตร์เข้าไปทำงานพยากรณ์มนุษย์ และเราเห็นโอกาสเราต้องกล้าที่จะกระโดดเข้าหาโอกาส และสุดท้ายคือ Agile รวดเร็วว่องไว เน้นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าขั้นตอน ซึ่งเป็นที่นิยมอยากมาในบริษัทด้านเทคโนโลยีหรือบริษัทสตาร์ตอัป ที่เน้นการทำงานแบบคล่องตัวสูง หรือมีโปรเจกต์ย่อย ๆ เข้ามาเยอะ เน้นผลลัพธ์ที่ไวและมีประสิทธิภาพ"

“เราตั้งเป้าหมายไว้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่ถ้าเมื่อใดที่มีโอกาสเราต้องกล้าที่จะกระโดดเข้าไป”

รตาบอกว่า ที่ผ่านมานั้น เธอกล้าที่จะกระโจนเข้าหาโอกาส กล้าจะกระโดดข้ามเหมือนเรียนคณิตศาสตร์ กระโดดจาก Local optimum (สูงสุดระดับท้องถิ่น) และกระโดดเป็น global optimum (สูงสุดระดับเวิลด์คลาส) ถึงแม้ใบปริญญาที่เธอได้รับมาอาจจะไม่ค่อยใกล้เคียงกัน แต่นั่นก็ทำให้เธอเป็นเธอในทุกวันนี้

ชีวิตหญิงไทยในฝรั่งเศส ไม่ง่าย ?

การเป็นผู้หญิงที่ฝรั่งเศสยากกว่าเมืองไทย รตาอธิบายว่า ที่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศ มีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ ติดอันดับท็อป ๆ ของโลก เราอาจจะชินกับการเห็นผู้หญิงไทยเป็นหัวหน้า ผู้นำ แต่เมื่อไปที่ฝรั่งเศสแล้วจะตกใจ เหมือนหารสิบ ผู้หญิงที่ขึ้นไปอยู่ระดับนั้นน้อยมาก คิดว่าอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมด้วย อย่างไทยทางศาสนาพุทธไม่ได้มีการกำหนดทิศทางของผู้หญิงว่าจะต้องทำอะไร แต่พอเป็นที่ฝรั่งเศส นับถือศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่ บทบาทของผู้หญิงก็อาจจะได้รับอิทธิพลจากศาสนาผู้หญิงก็จะถูกกำหนดว่าอย่าเรียนคณิตศาสตร์ อย่าเรียนฟิสิกส์ เพื่อนรตาที่เรียนมาด้วยกันตอนเด็ก ๆ จะโดนกีดกัน อย่างเพื่อนเก่งเลข ครูก็จะบอกว่าน่าเสียดายที่เธอเป็นผู้หญิง ขณะที่ หากดูอัตราการเรียนจะพบว่า หากเป็นเมืองไทยอาจจะเห็นผู้หญิงเรียนวิศวฯ 30% แต่ถ้าเป็นที่ฝรั่งเศส 5% ก็ไม่รู้จะถึงหรือไม่ ดังนั้น มองว่าบทบาทความก้าวหน้าในอาชีพของ “เพศหญิง” นั้น เมืองไทยง่ายกว่า

ส่วนความเป็นคนเอเชียนั้น ยอมรับว่ามีส่วนทำให้เกิดความลำบากมากกว่าคนฝรั่งเศส คนฝรั่งเศสแยกระหว่างความคิดคนกับตัวบุคคล สมมตินั่งโต๊ะกินข้าว คิดไม่เหมือนกันเถียงกันได้ไม่มีปัญหา ออกไปก็เป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม เพราะเขามองว่าเรื่องนี้มีความคิดเห็นไม่เหมือนกัน แต่เรื่องอื่น ๆ อาจจะคิดเห็นตรงกันก็ได้ เขาไม่ได้ตัดสินเลยว่า คุณคิดแบบนี้แล้วจะเป็นคนแบบนี้ เขาค่อนข้าง Open ทางความคิด เป็นสิ่งที่ชอบเพราะอยู่ที่เมืองไทยการถกเถียงจะค่อนข้างยาก

แต่ในเรื่องการหาทุนของสตาร์ตอัป การที่เป็นคนเอเชียค่อนข้างยาก ต้องไประดมทุนกับฝ่ายการเงินที่เก่าแก่ ทำให้รู้สึกเหมือนเขามองเราไม่เหมือนคนฝรั่งเศส ก็จะมีโดนวิจารณ์ว่า “รตาเป็น CEO ไม่ได้หรอก พูดฝรั่งเศสยังไม่ดีพอ” วิธีการแก้ปัญหาคือจะไประดมทุนกับบริษัทเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ซึ่งจะเปิดรับคนที่ไม่ได้เป็นชาวฝรั่งเศสมากกว่า

รตา และทีมงาน Startup

แรงบันดาลใจสู้ชีวิต คือ ปัญหาโลก ?

หากพูดถึงแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของแต่ละคน คงจะได้คำตอบไม่ต่างกันเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว บุคคลตัวอย่าง แต่สำหรับรตาแล้วนั้น ไม่ใช่

แรงบันดาลใจของรตา คือ “ปัญหาโลก” ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ทุกวันนี้เยอะไปหมด รตาบอกว่า “เห็นแบบนี้แล้วลูกเราจะอยู่อย่างไร คนรุ่นถัดไปจะอยู่อย่างไร มันแบบ...มีอะไรต้องทำเยอะ มันยากมาก แต่คนสู้เยอะ เราก็สู้ไปด้วยในแบบของเรา อยากอยู่แก้ปัญหา และเราไปคนเดียวไม่ได้ ต้องให้ผลักให้คนอื่น ๆ ไปกับเราด้วย เราต้องไปเป็นดาวกระจาย และเทรนด์คนรุ่นต่อมาด้วย เป็นเรื่องการช่วยกันทำให้โลกนี้น่าอยู่ได้อย่างไร”

ที่คิดได้ตอนนี้ถ้ามีเงินเยอะ ๆ ก็จะเอาเงินไปสนับสนุนสตาร์ตอัปรุ่นใหม่ ๆ ที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ หรือเอาเงินไปสนับสนุนองค์กรที่ทำเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ แต่ละคนก็มีทางสู้ต่างกัน บางคนอาจจะสู้ไปเลยเป็นนักกิจกรรม ซึ่งเรามาสู้ในทางของเราดีกว่า ว่าคนอย่างเราก็สามารถประสบความสำเร็จได้ เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ และถ้าเรามีเงินเยอะ ก็ไปช่วยสนับสนุนได้ในอนาคต

“เราก็สู้ในแบบของเรา อย่าเทียบกับคนอื่น ทุกคนเริ่มมาไม่เท่ากัน และคำว่า American Dream ใคร ๆ ก็เป็นอะไรก็ได้ มันไม่จริง เราทำดีที่สุดของเรา เรารู้ว่าเราข้ามมาได้จากเท่านี้แล้วนะ จากจุดที่เราจะถึง ภูมิใจกับมัน ทุกคนช่วยโลกให้ดีขึ้นได้ในแบบของเรา” นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสาว กล่าวทิ้งท้าย.

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBSSciAndTech

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech Data ScienceData ScientistStartupสตาร์ตอัปสตาร์ตอัพสตาร์ทอัพ
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ