โบกมือลา "สว.250" วาระ 5 ปี ก่อนส่งไม้ต่อ สว.ชุดใหม่

การเมือง
10 พ.ค. 67
07:28
1,711
Logo Thai PBS
โบกมือลา "สว.250" วาระ 5 ปี ก่อนส่งไม้ต่อ สว.ชุดใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.ชุดปัจจุบันนี้จะครบวาระในวันที่ 11 พ.ค.2567 และตามไทม์ไลน์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเปิดรับสมัคร สว.ชุดใหม่ เพื่อให้ได้มา สว. 200 คน ในวันที่ 20-24 พ.ค.นี้

อ่านข่าว : มีคำตอบ! "สว.มีไว้ทำไม" หน้าที่-สิทธิ-อำนาจ สภาสูงชุดที่ 13

ในรายการ "มุมการเมือง" ไทยพีบีเอส นำเสนอประเด็น "สว.250" นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการทำหน้าที่ในวาระดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ว่า พอใจในผลงานระดับหนึ่ง แม้ในบางเรื่องสมาชิกวุฒิสภาจะเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็สามารถทำงานร่วมกันได้กับสมาชิกผู้มีความรู้ประสบการณ์ความสามารถ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากข้าราชการระดับสูง และไม่ค่อยได้แสดงความเห็น

ทั้งนี้ ไม่ขอเปรียบเทียบการทำงานของวุฒิสภาชุดปัจจุบันและวุฒิสภาชุดใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ แต่ฝากว่าหากวุฒิสภาชุดใหม่ที่เข้ามาต้องยอมรับว่า มีที่มาจากการเลือกกันเอง และต้องตระหนักในการทำหน้าที่ สิ่งสำคัญจะต้องทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ อย่าถูกครอบงำจากผลประโยชน์หรือถูกครอบงำจากกลุ่มคนไม่ว่าฝ่ายใด จนทำให้เกิดความไม่เหมาะสมไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม

ส่วนการถูกเรียกว่าเป็น สว. คสช. และเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2562 นั้น นายเสรี ระบุว่า ได้เข้ามาตามระบบ และมาตามคำถามพ่วงประชามติของประชาชน และมีการกำหนดอำนาจหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี ปฏิรูปประเทศตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

อ่านข่าว : กกต.แจงยิบกฎ-กติกาขั้นตอนเลือก 200 สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13

สว.ชุดนี้ทำงานมา 5 ปี ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้น เคยถูกผู้ชุมนุมบางกลุ่มนำไปเป็นประเด็นปราศรัยบนเวทีก็หลายครั้ง หนึ่งในข้อกล่าวหาที่หนีไม่พ้นการเป็น สว.ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร 

ที่มา สว.250 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันอยู่ในวังวนของข้อครหามาตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ เพราะที่มาที่ออกแบบไว้ไม่ว่าจะสรรหากันเอง หรือแบ่งสัดส่วนให้แต่ละกลุ่มมีส่วนร่วมอย่างไร ในขั้นสุดท้ายผู้ที่เคาะก็คือ คสช. รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเวลานั้น

ที่มาของ สว.จำนวน 250 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม สว.โดยตำแหน่ง 6 คน : ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

กลุ่มที่สอง 50 คน : มาจากการเลือกกันเอง โดยให้ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการเลือก สว. โดยให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์หลายด้าน กลุ่มวิชาชีพ หรือกลุ่มผลประโยชน์ เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน

กลุ่มที่สาม 194 คน : มาจากการสรรหาที่ คสช.แต่งตั้งจากผู้มีความรู้และประสบการณ์ เป็นกลางทางการเมือง 10 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่ง สว. จำนวนไม่เกิน 400 คน แล้วหลังจากนั้น คสช.คัดเหลือ 194 คน

นอกจาก 6 คน ที่ต้องเป็นโดยตำแหน่ง และมักถูกวิพากษ์วิจารณ์บทบาทที่ยึดโยงกับรัฐบาลแล้ว ส่วนที่เหลือล้วนแต่ถูกเคาะในขั้นสุดท้ายโดย คสช.ทั้งสิ้น

อ่านข่าว : เรื่องน่ารู้ ก่อนเลือก สว.67 สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13 ของประเทศไทย

แต่ที่ดูจะเป็นประเด็นคำถามมากที่สุด คือ กลุ่มสรรหา 194 คน เพราะมาจากกรรมการสรรหาที่แต่งตั้งโดย คสช. ​ในคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา 10 คน

1. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองหัวหน้า คสช. และ รองนายกรัฐมนตรี) เป็นประธาน

2. พรเพชร วิชิตชลชัย (ประธาน สนช.)

3. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร (รองหัวหน้า คสช.)

4. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย (รองหัวหน้า คสช.)

5. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว (รองหัวหน้า คสช.)

6. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง (รองนายกรัฐมนตรี)

7. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี)

8. วิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี)

9. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ (รองนายกรัฐมนตรี)

10. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผู้แทน คสช.)

ในจำนวน 10 คนที่มาสรรหา มีนายพล 7 คน และในจำนวนนี้ทั้งหมดก็ล้วนทำงานคาบเกี่ยวกับรัฐบาล คสช.ทั้งสิ้น แล้วปรากฏว่าในจำนวน 250 คน ของสมาชิกวุฒิสภา มีคนในครอบครัว คนสกุลเดียวกันกับบรรดากรรมการสรรหารวมอยู่ด้วย

ผ่านไปสักระยะ สว.ชุดนี้เริ่มถูกตั้งคำถามว่า แม้จะเป็นตัวแทนประชาชนโดยหลักการ แต่ในทางปฏิบัติกำลังเล่นบทเป็นตัวแทนของกลุ่มขั้วอำนาจทางการเมืองในขณะนั้นหรือไม่ จนนำมาสู่วาทกรรมที่ถูกบางกลุ่มบางฝ่ายเรียกว่า สว. 2 ลุง "ขั้วลุ่งตู่ ขั้วลุงป้อม"

ทำงานมา 5 ปี สว.ชุดนี้ทิ้งผลงานอะไรไว้ให้แวดวงการเมืองบ้าง  

  • พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
  • พิจารณากฎหมายต่อจาก สส. มีอำนาจยับยั้ง หรือแก้ไขร่างกฎหมาย
  • มีอำนาจร่วมลงชื่อเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยวาระปัญหาต่าง ๆ
  • ตั้งกระทู้ถาม รัฐมนตรี ได้เหมือน สส.
  • เปิดอภิปรายทั่วไปได้ (5 ปี เพิ่งจะอภิปรายไปเมื่อเดือนก่อน)
  • เห็นชอบองค์กรอิสระ

ที่เป็นอำนาจสำคัญและถูกวิจารณ์ที่สุด คือ ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

อ่านข่าว : "เลือกกันเอง" ที่มา สว.ชุดใหม่ ครั้งแรกการเมืองไทย

กระแสวิจารณ์อำนาจในการโหวตเลือก "นายกรัฐมนตรี" ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะ สว.ชุดนี้ไม่ได้ตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรีโดยอิงจากเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้ง เห็นชัดในการเลือกที่ผ่านมา

หากแบ่งเป็น 2 ช่วง

1. ช่วงปี 2562 โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นแม้พรรคเพื่อไทยได้ สส.มากเป็นอันดับ 1 แต่ถูกช่วงชิงการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไปโดยพรรคพลังประชารัฐที่อ้างสิทธิ์จากการได้คะแนน Popular Vote มากกว่า และเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

2. ช่วงปี 2566 ช่วงนี้ชัดเจนเพราะในการเสนอชื่อนายกฯรอบแรก เป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ที่ได้เสียง สส.มากที่สุด และสามารถรวมเสียงในสภาได้เกินครึ่ง ณ ขณะนั้น แต่มี สว. 13 คน เท่านั้นที่ตัดสินใจโหวตให้ นายพิธา ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป

ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง สว.ชุดปัจจุบันผ่านห้วงเวลาถูกวิจารณ์มาเป็นระยะ ถึงขั้นเกิดเป็นแฮชแท็กในโลกโซเซียลว่า สว.มีไว้ทำไม หากเป็นคำถามปกติก็คงตอบง่าย กางอำนาจหน้าที่ดูก็จะรู้ว่ามีไว้ทำตามภารกิจเหล่านั้น แต่ในคำถามที่ตั้งกันจริงๆ แฝงไว้ด้วยข้อครหาว่า สว.ชุดนี้มีการตัดสินใจบางอย่างขัดต่อความรู้สึกของประชาชนบางกลุ่มบางฝ่ายหรือไม่

ผลการดำเนินงานของ "สว.250"

ช่วงต้นเดือน เม.ย. วุฒิสมาชิกประชุมสรุปผลงานตลอดเวลา 5 ปี เป็นการประชุมนัดสุดท้ายของสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ช่วงท้ายการประชุม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา แจ้งผลการดำเนินงานของ สว.ชุดปัจจุบัน ตั้งแต่ 22 พ.ค.2562 - 9 เม.ย 2567

  • มีการประชุมไป 258 ครั้ง ใช้เวลา 1,579 ชั่วโมง 55 นาที
  • พิจารณาร่างกฎหมาย 54 ฉบับ
  • อนุมัติพระราชกำหนด 14 ฉบับ
  • ตั้งกระทู้ถามรวม 588 กระทู้
  • เลือกหรือให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง 58 ครั้ง
  • พิจารณารายงานการศึกษาของ กมธ. 363 เรื่อง
  • พิจารณารายงานประจำปีของหน่วยงานต่าง ๆ 225 เรื่อง
  • พิจารณาญัตติ 27 เรื่อง
  • ติดตามความคืบหน้าปฏิรูปประเทศ/ยุทธศาสตร์ชาติ 24 เรื่อง
  • พิจารณาเรื่องร้องเรียนจริยธรรม สว. 2 ครั้ง

อ่านข่าว : "วรงค์" รับคำท้า "ภูมิธรรม" ตรวจคุณภาพข้าว มั่นใจตบแต่งกองข้าว

เสียโอกาส! อนุทินห่วงร้านค้า-ผู้ป่วย หาก "กัญชา" กลับเป็นยาเสพติด

ศาลสั่งยึดทรัพย์ 44 ล้านบาท "ธาริต" ร่ำรวยผิดปกติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง