ผลวิจัยทีดีอาร์ไอ ระบุ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมอินโดจีน คาดกระตุ้นการค้า 1.5 แสนล้าน

เศรษฐกิจ
31 ก.ค. 55
13:15
17
Logo Thai PBS
ผลวิจัยทีดีอาร์ไอ ระบุ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมอินโดจีน คาดกระตุ้นการค้า 1.5 แสนล้าน

ทีดีอาร์ไอ เปิดผลการศึกษา "ผลกระทบและประโยชน์" การพัฒนรถไฟ โดยเน้นไปที่โครงการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพ – เชียงใหม่ และกรุงเทพ – หนองคาย ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 ถึง 2562 ระบุ ไทยเหมาะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบก ชี้ รถไฟความเร็วสูง เป็นทางเลือกใหม่แก่ประชาชน ขณะที่อดีตรองผู้ว่าการรฟท. เผย ต้องใช้งบเยอะ เหตุรถไฟต้องมีมาตรฐานสูง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากความเร็วของรถไฟ

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัย กล่าวในงานสัมมนาเสนอผลงานวิจัย และรับฟังความคิดเห็น “โครงการวิจัยการใช้ประโยชน์จากระบบรถไฟที่เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของภูมิภาค” ว่าประเทศไทยจะต้องพัฒนาระบบรถไฟเพื่อเชื่อมกลุ่มประเทศจีนตอนใต้กับลาว, เวียดนาม, กัมพูชา และพม่า ซึ่งหากใช้รถไฟความเร็วสูงจะทำให้กทม. สามารถเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียนได้ และมองว่าประเทศไทยมีความเหมาะสม จึงได้มีการทำวิจัยเพื่อวิเคราะห์ถึงประโยชน์และผลกระทบการใช้ระบบรถไฟในครั้งนี้

ด้านนายสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการด้านการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบจากการพัฒนารถไฟความเร็วสูง และการเชื่อมต่อทางรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้านว่า รถไฟความเร็วสูงจะเป็นทางเลือกใหม่ ให้แก่ประชาชนที่ต้องการเดินทางในระยะไกล ซึ่งการเดินทางรูปแบบนี้จะได้เปรียบในระยะทางระหว่าง 100-500 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยเครื่องบิน แต่หากมากกว่า 500 กิโลเมตร จะไม่คุ้ม เนื่องจากต้องใช้เวลาในการเดินทางมากกว่าการใช้เครื่องบิน อีกทั้งการใช้บริการรถไฟประเภทนี้ จะเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และการแออัดทางการจราจร

ทั้งนี้ จากผลการวิเคราะห์จากแบบจำลอง ระบุว่า การค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ประเทศลาว ด่านมุกดาหาร และด่านหนองคายนั้น จะมีแนวโน้มการค้าสูงถึง 150,000 ล้านบาท และที่ด่านเชียงแสนมีการคาดการณ์ปริมาณการค้าในอนาคตมากกว่า 300,000 ล้านบาท ในปี 2564

นอกจากนี้แล้ว จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของต่างประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส  พบว่า มีอัตราการจ้างงานเพิ่ม, มีผลต่อเศรษฐกิจ,ราคาที่ดิน และการท่องเที่ยว รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของประชากร

ขณะที่นายนคร จัทรศร อดีตรองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เสนอว่า การสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้นจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทั้งการก่อสร้าง การบำรุงรักษา การออกแบบที่มีมาตรฐานสูง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เนื่องจากรถไฟที่มีความเร็วสูงนั้นจะมีอัตราความเร็วที่ 250-300 กิโลเมตร / ชั่วโมง และจะส่งผลต่อราคาตั๋วโดยสารที่จะสูงขึ้นด้วยจึงต้องมีการดูและและบริหาร ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เห็นว่า หากจะมีการสร้างระบบรถไฟใหม่ ควรปรับปรุงระบบการรถไฟแบบเก่าก่อน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง