"แกรมมี่" ไม่โพสต์เอ็มวีลง "ยูทูบ" จากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง

Logo Thai PBS
"แกรมมี่" ไม่โพสต์เอ็มวีลง "ยูทูบ" จากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง

เว็บไซต์แชร์วิดีโออันดับ 1 ของโลกอย่างยูทูบ เป็นเครื่องมือโปรโมตผลงานของศิลปินในธุรกิจเพลงยุคปัจจุบัน แต่ปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์ ก็นำไปสู่การตัดสินใจ GMM Grammy ยกเลิกการเผยแพร่มิวสิควิดีโอใหม่ทั้งหมดของศิลปินในสังกัด

<"">
<"">

แม้ยอดวิวกว่า 11 ล้านครั้งในเว็บไซต์ Youtube.com จากเพลง "ความพยายาม" ของศิลปินร็อครุ่นใหม่อย่าง No More Tear อาจแสดงถึงความสำเร็จด้านความนิยมในตัวศิลปินจากการประชาสัมพันธ์ผ่าน เว็บไซต์แชร์วิดีโออันดับ 1 ของโลกอินเตอร์เน็ต แต่ความสะดวกสบายของเทคโนโลยียุคปัจจุบันที่สามารถฟังเพลงดังผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนยุคใหม่ และดาวน์โหลดเพลงเก็บไว้ได้ กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ค่ายอย่าง GMM Grammy เชื่อว่าเป็น 1 ในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อยอดดาวน์โหลด การนำไปสู่ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจเพลงที่ลดลง  ทำให้วันนี้ค่ายเพลงดังตัดสินใจยกเลิกการเผยแพร่มิวสิควิดีโอของศิลปินใน สังกัดออกจาก เว็บไซต์ Youtube.com

การเผยแพร่ผลงานมิวสิควิดีโอของศิลปินผ่านเว็บไซต์แชร์วิดีโออย่าง Youtube กลายเป็นช่องทางสำคัญในการ ประชาสัมพันธ์ศิลปินในยุคดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาและทำให้ศิลปินเป็นที่รู้จักทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งเห็นได้จากความโด่งของศิลปินเกาหลีซึ่งมักปล่อยมิวสิควิดีโอความละเอียด สูงเผยแพร่ให้แฟนเพลงได้ชมผ่านทางเว็บ youtube แต่ปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมการนำไปใช้ของผู้บริโภคที่ส่งผลกระทบ ต่อรายได้ของธุรกิจเพลง ก็ทำให้ค่ายเพลงยักษใหญ่ในตะวันตกอย่าง Sony Music, Universal และ Warnermusic รวมตัวกันตั้งเว็บไซท์ VEVO.com ซึ่งมีการควบคุมการนำวิดีโอไปใช้และมีการจัดเก็บรายได้จากโฆษณาอย่างเป็น ระบบกว่าเดิม ซึ่งระบบการดูแลและจัดเก็บรายได้แบบเดียวกันในยูทูบยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นเหตุผลสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะส่งผลกระทบถึงผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สถิติจาก youtube.com ระบุว่าประเทศไทยมีอัตราการใช้งานเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และแกรมมี่คือเจ้าของคอนเทนต์อันดับ 1 ของประเทศไทย แม้วันนี้ผลงานที่ถูกเผยแพร่ไปแล้วจะยังไม่ถูกถอดจากยูทูบ แต่นับจากนี้มิวสิควิดีโอใหม่ของศิลปินในสังกัดจะถูกนำไปเผยแพร่เฉพาะใน เว็บไซต์ของบริษัทเท่านั้น เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บรายได้จนกว่าจะมีแนวทางที่เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง