ชาวไทย-พม่าร่วมกันทำความสะอาดสะพานมิตรภาพหลังน้ำลด

ภูมิภาค
14 ส.ค. 55
12:14
15
Logo Thai PBS
ชาวไทย-พม่าร่วมกันทำความสะอาดสะพานมิตรภาพหลังน้ำลด

ชาวไทยและพม่า ร่วมกันทำความสะอาดสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ที่ จ.ตาก หลังระดับน้ำในแม่น้ำเมยกลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่เจ้าหน้าที่ชลประทานในหลายจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เร่งพร่องน้ำออกจากเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำ เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับน้ำเหนือที่กำลังไหลหลากลงไปยังพื้นที่ด้านล่าง

ชาวพม่าใน จ.เมียวดี ตรงข้ามบ้านห้วยม่วง ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เดินทางข้ามแม่น้ำเมย เข้ามาซื้อสินค้าใน อ.แม่สอด หลังระดับน้ำในแม่น้ำเมยที่ล้นตลิ่งกลับสู่ภาวะปกติ และในวันนี้(14 ส.ค.)ชาวไทยและชาวพม่า ได้ร่วมกันทำความสะอาดถนน ตลาดริมเมย และเชิงสะพานมิตรภาพไทย - พม่า ก่อนจะมีการจัดงานครบรอบ 15 ปี สะพานมิตรภาพไทย-พม่า

นางนฤมล ปาลวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ พ.อ.บรรณวัฒน์ พรหมจันทร์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 จ.แม่ฮ่องสอน บินสำรวจพื้นที่การเกษตรใน ต.แม่นาเติง อ.ปาย หลังได้รับความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลากเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พื้นที่การเกษตรที่เสียหายส่วนใหญ่คือไร่ถั่วเหลือง ดินถล่มปิดทับเส้นทาง 8 จุด สะพานเสียหาย 3 แห่ง ขณะนี้ได้นำเครื่องจักรกลเข้าไปเร่งซ่อมแซมแล้ว

ขณะที่ภาคเหนือตอนล่าง เจ้าหน้าที่ชลประทานเร่งระบายน้ำเพื่อรองรับน้ำที่กำลังไหลหลากมาจากภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะการเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน ผ่านประตูระบายน้ำเฉลิมพระเกียรติ รอยต่อ อ.สามง่าม จ.พิจิตร กับ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำที่ไหลมาจาก จ.สุโขทัย และจ.พิษณุโลก

นายประพนธ์ คำไทย ผู้อำนวยการชลประทานกำแพงเพชร บอกว่า กรมชลประทานกำหนดการพร่องน้ำจากเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ลงสู่แม่น้ำปิงที่ไหลผ่านจังหวัดกำแพงเพชร ไม่เกิน 60 ลบ.ม./วินาที ตามแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่ลุ่มในภาคกลาง และระบุว่าเขื่อนภูมิพล มีน้ำต้นทุนประมาณร้อยละ 46 ของความจุ เชื่อว่า จะรองรับน้ำในปีนี้ได้

เช่นเดียวกับ เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 ฝายวังยาง จ.มหาสารคาม ได้เร่งพร่องน้ำเพื่อให้อยู่ในระดับเก็บกักที่เหมาะสม หลังพบว่า ระยะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีฝนตกและน้ำเหนือไหลลงมาสมทบ ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารริมแม่น้ำชี ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย ยังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งห้ามลูกค้านั่งใกล้ริมน้ำ หลังพบว่าตลิ่งทรุดและพื้นคอนกรีตยุบตัว

แม้หลายจังหวัดจะเร่งพร่องน้ำรองรับฤดูน้ำหลาก แต่ยังมีบางพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อย่างเช่นที่ จ.บุรีรัมย์ ชลประทานจังหวัด ต้องงดปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด อ.เมือง ลงสู่พื้นที่การเกษตรชั่วคราว เพื่อไม่ให้กระทบกับการผลิตน้ำประปา หลังเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 3 เดือน ขณะที่ จ.บุรีรัมย์ เตรียมประสานไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา และจ.ขอนแก่น ปฏิบัติการบินโปรยสารเคมีทำฝนหลวง แก้ไขปัญหาภัยแล้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง