เปิดพื้นที่รับน้ำนอง 4 ประเภท รับมือน้ำท่วมปีนี้

29 ส.ค. 55
07:54
70
Logo Thai PBS
เปิดพื้นที่รับน้ำนอง 4 ประเภท รับมือน้ำท่วมปีนี้

แผนหนึ่งในการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลคือการหาพื้นที่รับน้ำนอง หรือแก้มลิงกว่า 2 ล้านไร่ เพื่อช่วยเก็บน้ำเหนือที่หลากลงมาในภาคกลาง แต่จนถึงวันนี้ (29ส.ค.)คันปิดล้อมในพื้นที่รับน้ำนองบางแห่ง ยังสร้างไม่เสร็จ ขณะที่ชาวบ้านยังไม่รู้ว่าที่ดินของพวกเขาจะต้องเป็นพื้นที่รับน้ำนองหรือไม่ และจะได้รับเงินชดเชยเท่าไร

ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้พิจารณา คัดเลือกพื้นที่รับน้ำนอง ซึ่งจะช่วยบรรเทาน้ำท่วมในปีนี้ ซึ่งจะแบ่งพื้นที่รับน้ำนองออกเป็น 4 ประเภท

 2 ประเภทแรก จะเป็นลักษณะหนองบึง หรือพื้นที่ลุ่มต่ำที่สามารถรองรับน้ำในฤดูน้ำหลากได้ ซึ่งมีทั้งแบบทุ่งรับน้ำ หรือหนองบึงตามธรรมชาติ ที่น้ำมักจะหลากเข้าท่วมเป็นประจำทุกปี และแก้มลิงที่อยู่ติดแม่น้ำ ซึ่งมีระบบปิดล้อมซึ่งสามารถควบคุมน้ำเข้าออกได้

อีก 2 ประเภท จะเป็นพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีทั้งแบบไร่นาในเขตชลประทานที่เป็นระบบปิดล้อมที่สามารถควบคุมน้ำเข้าออกได้ และพื้นที่การเกษตรที่ไม่มีระบบปิดด้านบน แต่มีระบบปิดล้อมที่ด้านล่าง ซึ่งสามารถระบายน้ำสู่พื้นที่ท้ายน้ำได้

รัฐบาลคาดว่าพื้นที่รับน้ำนองกว่า 2,000,000 ไร่ จะสามารถรับน้ำได้กว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าปีนี้น้ำมากเท่าเดิม คือ 28,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เก็บไว้ในเขื่อนและให้ป่าซับน้ำ ก็จะมีน้ำเหลือ 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเก็บในพื้นที่รับน้ำนอง 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรตามแผน ก็จะเหลือน้ำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 12,900 ล้านลูกบาศก์เมตร หลังจากรวมน้ำจากลุ่มน้ำอื่นๆ

พื้นที่ตอนบนจะครอบคลุมพื้นที่ระหว่างแม่น้ำยม และน่าน โดยจะระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่รับน้ำนองด้วยการระบายน้ำผ่านโครงการชลประทานต่างๆ เข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำ ในจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์

ขณะที่ในเขตที่ราบลุ่มภาคกลางก็จะระบายน้ำผ่านโครงการชลประทานต่างๆเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำ ในจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม

แม้จะกำหนดพื้นที่คร่าว ๆ ไว้แล้ว แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้ประกาศพื้นที่รับน้ำนองที่ชัดเจนออกมา ทำให้ชาวบ้านไม่แน่ใจว่าปีนี้ (2555) ที่นาของพวกเขาจะต้องรับน้ำหรือไม่ รวมถึงผืนนาใน ต.บางหัก อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยาแห่งนี้ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งชาวบ้าน คาดว่าจะต้องเป็นพื้นที่รับน้ำ พวกเขาจึงพยายามเร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำให้เสร็จภายในเดือนนี้

ขณะนี้คณะกรรมการภาครัฐได้เลือกพื้นที่รับน้ำนองและอัตราเงินช่วยเหลือแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาลงมติเห็นชอบ จากนั้นนายกรัฐมนตรี จะประกาศพื้นที่และหลักเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยที่ชัดเจนภายในสิ้นเดือนนี้

อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน ที่มีระบบปิดล้อม ควบคุมน้ำเข้าออกได้ จากโครงการชลประทาน 3 แห่ง คือ มหาราช บางบาล และผักไห่ แต่เพราะภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมทุกปี จึงถูกจัดอยู่ในประเภทพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำตามธรรมชาติ เมื่อแบ่งประเภทพื้นที่รับน้ำออกเป็น 4 อย่าง ก็จะทำให้เกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือและชดเชยแตกต่างกัน

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาลกำลังปรับปรุงคันปิดล้อมแก้มลิง ด้วยการเสริมถนนให้สูงขึ้นอีก 80 เซนติเมตร แต่คาดว่าการยกถนนจะแล้วเสร็จในปีหน้า (2556) เช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัดในภาคกลาง ที่การก่อสร้างล่าช้า เสร็จไปได้เพียงครึ่งเดียว ปริมาณน้ำที่จะท่วมขังในที่ลุ่มภาคกลางจึงอาจเพิ่มขึ้นได้ หากปริมาณน้ำมากเท่าปีที่แล้ว

แม้ชาวบ้านจะทราบข่าวว่าพื้นที่ลุ่มต่ำในภาคกลางส่วนใหญ่จะต้องเป็นพื้นที่รับน้ำในปีนี้ (2555) แต่เมื่อยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลทั้งการกำหนดพื้นที่ และการจ่ายเงินเยียวยา พวกเขาจึงไม่แน่ใจว่า แผนพื้นที่รับน้ำนองปีนี้(2556) สามารถจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพี้นที่รับน้ำได้จริงหรือไม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง