7 เล่มหนังสือที่ผ่านเข้ารอบซีไรต์ปีนี้ ทะลุกรอบ "วรรณกรรมเพื่อชีวิต"

Logo Thai PBS
7 เล่มหนังสือที่ผ่านเข้ารอบซีไรต์ปีนี้ ทะลุกรอบ "วรรณกรรมเพื่อชีวิต"

ที่ผ่านมาวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ในส่วนของนวนิยายอาจไม่ค่อยคึกคักเท่าไหร่ เพราะมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมไม่มาก และ มักถูกมองว่าพัฒนาการสู้ผลงานเรื่องสั้นไม่ได้ แต่ไม่ใช่สำหรับปีนี้ เพราะนอกจากชื่อชั้นของนักเขียนที่ผ่านเข้ารอบแล้ว ยังเป็นปีที่คนในวงการต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าผลงานมีพัฒนการที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก

จากนวนิยาย 73 เล่มที่ส่งเข้าประกวด ถูกคัดเหลือเพียง  7 เล่มในรอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ 2555 ไม่เพียงเป็นปีที่ซีไรต์ถูกจับตา เพราะเป็นครั้งแรกที่นักเขียนรุ่นใหญ่ระดับอินเตอร์อย่าง แดนอรัญ แสงทอง ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากผลงานนวนิยายแนวธรรมบูชาชื่อ "เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง" แต่ยังเป็นปีที่ อุทิศ เหมะมูล ซึ่งเคยได้ซีไรต์ปี 2552 กลับมาลุ้นรางวัลนี้อีกครั้งใน ลักษณ์อาลัย ที่โดดเด่นด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่ซับซ้อน และ เมื่อรวมกับผลงานอีก 5 เล่มที่ผ่านเข้ารอบล้วนมีเนื้อหาเข้มข้นและทรงพลังทางวรรณศิลป์

เนื้อหาที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องราวที่สืบค้นเข้าไปภายในจิตใจของมนุษย์ ไปจนถึงการพูดถึงปัญหาการป่วยไข้ของสังคมยุคปัจจุบันที่ถูกบรรยายผ่านตัวอักษรทั้งในงานอย่าง คนแคระ ของ วิภาส ศรีทอง ในรูปเงา ของ เงาจันทร์ หรือ รอยแผลของสายพิณ โดย สาคร พูลสุข และบอกเล่าถึงความแค้นและการค้นพบสัจธรรม ในเรื่องเล่าในโลกลวงตาของ พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัฆค์ ขณะเดียวกันยังสะท้อนเรื่องราวที่ไกลออกไปในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใน โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ความแปลกใหม่หลากหลายของเนื้อหานวนิยายซีไรต์ปีนี้ยังสะท้อนการก้าวสู่ยุคใหม่ของนวนิยายสร้างสรรค์ของไทย

ผลงานวรรณกรรมสร้างสรรค์อย่างนวนิยายพัฒนาเข้าสู่ยุคใหม่ในแนววรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ต้องการนำเสนอความคิดด้านสังคมสู่ประชาชน ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19  แต่ปัญหาด้านการขาดพื้นที่เพยแพร่และการส่งเสริมทำให้กว่า 30 ปีที่ผ่านมาพัฒนาการวงการนวนิยายไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร  การขยายขอบเขตเข้าสู่เนื้อหาที่กว้างกว่าที่เคยของนวนิยายรางวัลซีไรต์ปีนี้ ทำให้หลายคนคาดหวังว่าผลงานที่ได้รางวัลจะเป็นตัวแทนและหมุดหมายในการสะท้อนความก้าวหน้าในวงการวรรณกรรมไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง