"ปาย" เมืองเล็กๆที่เข้าสู่วิกฤตขาดแคลนอาหารในฤดูกาลท่องเที่ยว

Logo Thai PBS
"ปาย" เมืองเล็กๆที่เข้าสู่วิกฤตขาดแคลนอาหารในฤดูกาลท่องเที่ยว

"ปาย" อาจเป็นปลายทางการพักผ่อนของหลายๆคน แต่หลายปีมานี้การท่องเที่ยวทำให้ปายเปลี่ยนไป เมืองเล็กๆกำลังเข้าสู่วิกฤตขาดแคลนอาหารในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว การสำรวจปัญหาและตื่นรู้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงเป็นวิธีการที่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งใช้เป็นเครื่องมือรักษาฐานทรัพยากรที่เหลืออยู่

ภาพทุ่งนาสีเขียว ฟ้าสีคราม แสงแดดทอดผ่านม่านหมอกหนา ถ่ายทอดความสมบูรณ์ของธรรมชาติของปาย เมืองเล็กๆใน จ.แม่ฮ่องสอน ในภาพยนตร์เรื่อง รักจัง เมื่อปี 2549 สร้างกระแสให้กับนักท่องเที่ยววัยรุ่นและนักเดินทางรุ่นใหม่ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตติดอันดับในวันหยุดเทศกาล

การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึง 10 ปี ไม่เพียงเปลี่ยนวิถีท่องเที่ยวเดิมจากแบกเป้ เรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ มาเป็นการท่องเที่ยวตามกระแสที่พึ่งพิงสิ่งอำนวยความสะดวก ยังเปลี่ยนชีวิตชาวบ้านจากเคยยังชีพด้วยเกษตรกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจบริการตามรีสอร์ท และบ้านพักตากอากาศ ทั้งนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวมหาศาลโดยเฉพาะในฤดูหนาวมากกว่าวันละกว่า 100,000 คน เกินกว่าเมืองเล็กๆอย่างปายจะรับได้เพราะทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเพราะต้องสั่งวัตถุดิบจากเชียงใหม่

<"">
<"">

 

นพ.รอน ใจกันหา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน รพ.ปาย กล่าวถึงผลกระทบของเมืองปายว่า สินค้าอาหารต้องอิงตามนักท่องเที่ยว  คนปายจึงได้รับผลกระทบเพราะรายได้ของคนปาย ไม่ได้มาจากท่องเที่ยวอย่างเดียว เพราะการประกอบการท่องเที่ยวที่ปายไม่น่าจะถึง 50% เป็นคนท้องถิ่นปาย ทั้งในช่วง High Season ท่องเที่ยวบ่นว่าของแพง และหาอาหารทานลำบาก

นาริมแม่น้ำปายแทบไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะพื้นที่เลียบคลองถูกเปลี่ยนเป็นรีสอร์ทและพื้นที่การปลูกพืชเพื่อธุรกิจอย่างถั่วเหลือและข้าวโพด

ชาวบ้านแม่ปิง ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองปายเพียง 10 กว่ากิโลเมตร เห็นเค้าลางของการล่มสลาย ตัดสินใจไม่แลกอนาคตของชุมชนกับการท่องเที่ยว แต่ยังคงรักษาวิถีเดิมแบบปกาเกอะญอ ทำนา เลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชไร่หมุนเวียน เพียงพอที่จะเลี้ยงคนในชุมชนกว่า 140 ครัวเรือนได้ตลอดทั้งปี ขณะที่ชุมชนรายรอบถูกรุกคืบจากทุนภายนอก แต่ชาวกะเหรี่ยงแม่ปิงร่วมกันตั้งกฏของหมู่บ้านไม่ให้มีการซื้อขายที่ดิน และปฏิเสธการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เพราะเชื่อว่าจะทำลายวิถีของชุมชน

<"">
<"">

 

"เรามีกฎเพราะเห็นว่าถ้าการท่องเที่ยวเข้ามาจะเป็นปัญหามากกว่า คือ ป้องกันกลุ่มทุน ด้วยการปิดช่องทาง ไม่ให้มีเข้ามาเลย ยอมรับว่ายาก แต่พวกเราคุยกันตลอด และคิดว่าที่เป็นอยู่นี้ดีที่สุด" อำพัน ปรีชญาวิชัยกุล ชาวปกาเกอะญอชุมชนบ้านแม่ปิง กล่าว

ขณะที่ ธนันชัย มุ่งจิต  ผู้ประสานงานวิจัย สกว.ท้องถิ่น จ.แม่ฮ่องสอน ระบุว่า วิธีที่ดีที่สุด คือ คนในพื้นที่ คนในปาย ต้องเห็นถึงปัญหา ต้องได้รู้ว่าปัญหาคืออะไรและจะส่งผลอะไร คนในพื้นที่ต้องช่วยกันแก้ไข และฟื้นฟูชุมชน งานวิจัยทำให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นและจะเป็นอย่างไร แต่ผู้ปฎิบัติต้องเป็นคนปาย

<"">
<"">

 

ปายได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยเมื่อไม่ถึง 10 ปีมานี้ ส่งผลให้มีการเร่งสร้างที่พักขึ้นมากมาย   แต่กลับทำรายได้เฉพาะช่วงวันหยุดไม่กี่เดือนในหน้าท่องเที่ยว รีสอร์ทหลายแห่งเริ่มเปลี่ยนมือ ขณะพื้นที่เพาะปลูกถูกแทนที่ด้วยพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด กระเทียม ถั่วเหลือง ไม่เพียงที่ทำกินที่หายไป แต่การตรวจพบสารเคมีในเลือดถึงร้อยละ 90 ของชาวบ้านในบางพื้นที่   ก็บอกได้ถึงอันตรายใกล้ตัว ข้อมูลส่วนหนึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นเพื่อพัฒนาเป็นงานวิจัยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันที่ปายเปลี่ยนไป 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง