“ล่าแม่มด – เซ็กส์ - ความรุนแรง ภัยเงียบออนไลน์ที่สังคมไทยต้องรู้ให้เท่าทัน”

9 ต.ค. 55
09:10
2,027
Logo Thai PBS
“ล่าแม่มด – เซ็กส์ - ความรุนแรง ภัยเงียบออนไลน์ที่สังคมไทยต้องรู้ให้เท่าทัน”

การล่าแม่มด เป็นประวัติศาสตร์ทางตะวันตก ที่กล่าวอ้างถึงการไล่ล่าความชั่วร้ายที่เกิดจากการใช้ไสยศาสตร์ในการเล่นงานและทำร้ายกัน ซึ่งในความเชื่อของประวัติศาสตร์นี้หากใครถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดจะต้องถูกคนในสังคมนั้นไล่ล่า และถูกทรมานจนถึงแก่ความตายหลากหลายวิธีโดยผู้ถูกกล่าวหาแทบจะไม่มีโอกาสได้ชี้แจงใดๆ ทั้งสิ้น

ปัจจุบันถึงแม้ตำนานการล่าแม่มดของฝั่งตะวันตกจะเริ่มจางหายไป แต่ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์อยู่เหนือทุกสิ่ง และผู้คนพูดคุยและสื่อสารกันผ่านโลกไซเบอร์กลับมีพฤติกรรมของการไล่ล่า ทำร้าย กล่าวหา โจมตี ผู้คนผ่านทางโลกอินเตอร์เน็ตโดยคนที่ถูกกล่าวหานั้นกลับถูกสังคมรุมประณามต่อว่า หยามเหยียด และอาจจะเลยเถิดถึงการทำร้ายร่างกายกัน ไม่ต่างจากพฤติกรรมของนักล่าแม่มดในอดีต นิยามของคำว่า “ล่าแม่มด” จึงถูกตีความใหม่กับผู้ที่ถูกกระทำทางการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กและเยาวชนที่กลายเป็นเหยื่อหรือแม่มดให้ถูกล่า

ด้วยสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับ ผู้อบรมหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นที่ 3 จัดเวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง “ล่าแม่มด – เซ็กส์– ความรุนแรง ภัยเงียบออนไลน์” ขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมหาทางออกและแนวทางป้องกันปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับเยาวชนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในบ้านเราให้ไม่กลายเป็นแม่มดที่ถูกล่า โดยมีวิทยากรที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านอินเตอร์เน็ตเข้าร่วมในการเสวนาและถ่ายทอดบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับผู้ใช้อินเตอร์เน็ต

นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกร รายการแบไต๋ไฮเทค กล่าวในการเสวนาว่า การล่าแม่มดในยุคไซเบอร์เป็นการกระทำต่อผู้แสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับคนส่วนใหญ่ในหมู่นั้น ซึ่งเริ่มต้นดุเดือดมากที่สุดในยุคการชุมนุมทางการเมือง หลังจากนั้นก็เริ่มลามขึ้นมาเป็นประเด็นปัญหาในทางสังคม สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือในโลกอินเตอร์เน็ตนั้นไม่เหมือนโลกของการพูดคุย เพราะการเขียนนั้นสามารถทำให้คนที่ได้อ่านคล้อยตามได้มากกว่าการพูด

 เมื่อเราอ่านในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเราจะอ่านเป็นความคิดของเราเองและคล้อยตามในสิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นไม่เหมือนกันการพูดคุยที่ไม่ใช่เสียงของเราหากแต่เป็นเสียงของคนอื่นที่พูดคุยกันเรายังทำให้เราได้เกิดการโต้แย้ง หรือถกเถียงแลกเปลี่ยนในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยได้ แต่การอ่านโดยเฉพาะการอ่านในโลกอินเทอร์เน็ตในเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่มีความเห็นรวมกันนั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างมาก 

นายพงศ์สุข กล่าวว่า การล่าแม่มด มันเป็นความผิดหมิ่นประมาท ซึ่งมีคนพร้อมบันทึกทุกเรื่อง ทุกภาพที่โพสต์ข้อความไว้ แม้เป็นเวลาสั้นๆ  5 วินาที ภาพ แต่เมื่อมันถูกนำเข้าไปสู่คอมพิวเตอร์แล้วก็ไม่สามารถลบจากคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ใช้ 2 พันล้านคนบนโลกได้ โดยเฉพาะเฟซบุ๊คกวาดไป 1 พันล้านคน อย่าคิดว่าการโพสต์ลงอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องส่วนตัว 

 “ผมให้คะแนนความรุนแรงบนโลกไซเบอร์ไว้ระดับที่ 6 เพราะยังไม่เห็นว่าการทะเลาะในอินเทอร์เน็ตแล้วจะออกมาตบกันภายนอก แต่ในทางกลับกันมีคลิปการตบตีกัน มีอีก 20 คน เอาแต่ถ่ายรูป ไม่คิดทำอะไรเลย ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ถ้าคนในระดับนี้ในอีก 5 ปี เข้าสู่ระบบงาน ถ้ากระบวนการเรียนรู้ไม่ได้หลอมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดีได้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น ฝ่ายบุคคลต้องตั้งแผนกที่ตรวจข้อมูลก่อนรับเข้าทำงาน เพื่อดูว่าพนักงานเคยโพสต์ข้อความอะไรที่ไม่ดีลงอินเทอร์เน็ตหรือไม่ เพราะแม้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ถ้ามีพฤติกรรมเช่นนี้ เราก็ไม่สามารถไว้ใจให้ทำเรื่องใหญ่ๆ ได้”นายพงศ์สุขกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจอีกว่า “อินเตอร์เน็ตเป็นเหมือนมีดทำครัว  ไปทิ่มแทงคนอื่นได้ ถ้าไม่มีความรู้ ความเสี่ยงก็จะมากขึ้น ถ้าเราไม่กรองเลยก็อาจได้รับข้อมูลผิดพลาด หรือ ตกเป็นเหยื่อได้”

ด้านนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดด้านคอมพิวเตอร์ กล่าวในงานเสวนาครั้งนี้ด้วยว่า ผู้ที่คิดว่าการล่าแม่มดบนโซเชียลมีเดีย ไม่สามารถเช็คไอพีแอดเดรสได้ แต่ในความเป็นจริงสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด แม้จะลบข้อมูลทั้งหมดออก แต่เมื่อลบแล้วข้อมูลก็ยังถูกเก็บอยู่ในเครื่อง เราสามารถกู้ข้อมูลภายใน 5 นาที แม้กระทั่งในเฟซบุ๊คมีก็มีหลักฐานหมด เมื่อเวลาจะดำเนินคดีก็สามารถเรียกข้อมูลได้ทั้งหมด ความเข้าใจการล่าแม่มด อาจคิดว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่จริงๆ มันผิดกฎหมาย ส่วนการกดไลค์ กดแชร์ แม้ไม่ผิด แต่ก็เหมือนเป็นการส่งเสริม และถ้าใส่ข้อมูลที่เป็นผลลบเพิ่มเข้าไปเรามีโอกาสได้วีซ่าไปเที่ยวห้องกรง 5 ปี ทุกครั้งที่ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถตามตัวได้หมด

นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ที่คนชะล่าใจเห็นว่าไม่มีการฟ้องร้อง หรือ ดำเนินคดีล่าช้านั้น เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ที่ดูแลมีจำนวนน้อย คนที่มีความสามารถตรวจสอบได้จริงมีเพียง 20 ทั้งประเทศ เท่านั้น เมื่อเทียบกับคน 60 ล้านคน ทำให้การตรวจต่างๆ ต้องใช้เวลา ทำให้คนทำผิดย่ามใจ แต่อายุตามกฎหมายมีอายุความ 15 ปี ล่าแม่มดผิดกฎหมาย  เป็นการละเมิดสิทธิ์ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ซึ่งเป็นโทษที่ยอมความไมได้ พอยอมความไม่ได้ พอฟอร์เวิร์ดก็มีความผิดส่งต่อไปเรื่อยๆ เจ้าของเว็บก็มีความผิดในฐานะเป็นตัวการร่วม ส่วนคนที่รีทวิตต่อก็ต้องระวัง อาจเหยื่อการถูกเจาะขโมยข้อมูลได้ ในสหรัฐอเมริกา บริษัทหลายแห่งสืบค้นประวัติผู้สมัครงานจากเว็บไซต์กูเกิล เมื่อพบว่าใครเคยทำผิด ก็จะถูกไล่ออกทันที”ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดด้านคอมพิวเตอร์ระบุ

 
นายไพบูลย์ได้ให้ระดับความรุนแรงบนโลกไซเบอร์ประมาณ 6 – 7 คือ โดยสะท้อนแนวทางของการแก้ปัญหาที่ล้มเหลวและนำเสนอทางออกในการแก้ปัญหาให้ได้ผลเพิ่มเติมดังนี้ 1.การใช้กฎหมายบังคับรุนแรง ไม่แก้ปัญหา 2.การใช้เทคโนโลยี การปิดบล็อกเว็บไซต์ วิธีการดังกล่าวไม่ได้แก้ปัญหา ดังนั้น ควรทุ่มงบให้กับ ข้อ 3.self regulationการควบคุม โดยให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง สร้าง code of conduct (ประมวลจริยธรรม) สร้างขึ้นมา เพื่อกำหนด social sanction เพื่อให้สะท้อนกลับสู่ผู้กระทำความผิด และ 4.ต้องแก้กฎหมายกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ขณะที่ พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ จิตแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวในงานเสวนาไว้อย่างน่าสนใจเช่นกันว่า ถ้าจะเปรียบเทียบการล่าแม่มดให้ชัดเจน ในประเทศไทยต้องเปลี่ยนเป็น การล่าปอบ ล่ากระสือ ซึ่งการหาแพะเป็นกลไกทางจิตของมนุษย์เพื่อโยนความผิดให้คนอื่น ทำให้ตัวเองสบายใจขึ้น ส่วนโซเชียลเน็ตเวิร์ค มีผลต่อชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่ น่าเป็นห่วงเด็กไทยเสียตัวตนให้แก่โซเชียลเน็ตเวิร์ค แม้แต่ผู้ใหญ่ที่ติดโซเชียลมากๆ เช้าขึ้นมาเปิดโทรศัพท์มือถือก็เช็คข้อความเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม จนหลายคนลืมตัวตน ไม่ได้อยู่กับตัวเอง แต่ไปอยู่กับตัวตนใหม่ของตัวเองที่สร้างขึ้นในโซเชียลมีเน็ตเวิร์ค และหลายคนเกิดความเครียดเนื่องจากมีคนมาว่าตัวเองในเฟซบุ๊ค ไม่สบายใจ กลับเอามาคิดเป็นเดือนเป็นปี ไม่มีค่า บางคนถึงกับต้องปิดเฟซบุ๊คตัวเอง ไปสร้างตัวตนใหม่เรื่อยๆ

“โทษที่ใกล้ตัวคือถ้าเราไม่รู้จักแบ่งเวลา เราสูญเสียเวลาไปกับโซเชียลเยอะมาก พอเล่นมากๆ ส่งผลกระทบต่อตัวตนเรา และคนรอบข้าง ไม่คิดถึงอนาคต เด็กยุคใหม่สูญเสียเวลาไปกับเรื่องดังกล่าวเยอะ สูญเสียเรื่องของการเรียน ซึ่งมีการพบว่าคนที่ใช้เวลากับตรงนี้ทำให้ทักษะการเข้าสังคมกับคนรอบข้างเสียไป ดังนั้น จึงต้องรู้จักแบ่งเวลา ต้องรู้ตัวตน ที่เป็นเรา ต้องรู้จักเห็นคุณค่าตัวเอง เชื่อมั่นตัวเอง ต้องรู้จักภาคภูมิใจตัวตน ไม่ต้องใส่หน้ากาก แอบแฝง ต้องแบ่งเวลา ไม่เช่นนั้นกระทบตัวเรา คนรอบข้างและสิ่งอื่นๆ เรียนก็เรียน ทำงานให้เต็มที่ โซเชียลไว้เป็นช่วงเวลาพักผ่อน” พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี กล่าว

พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี ทิ้งท้ายว่า ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจะต้องแยกให้ได้ว่าสิ่งไหนคือชีวิตจริง กับ โซเชียลเน็ตเวิร์ค เพราะคนไทยหลายๆ คนเชื่อคนง่าย ไม่ได้ใช้สติปัญญาพิจารณา แล้วมีอารมณ์ร่วมเยอะ ต้องคิดไว้เสมอเวลาโพสต์อะไรไป สิ่งเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ 20 ปี โปรดใช้วิจารณญาณก่อนจะทำอะไร อยากให้มีสติ อย่าตกเป็นเหยื่อ หรือ เป็นเครื่องมือของคนอื่น

ท้ายที่สุดแล้วเทคโนโลยีการสื่อสารก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ ซึ่งจะถูกพัฒนาเพื่อให้เกิดการใช้อย่างเหมาะสมไปพร้อมกับความก้าวหน้าคู่ขนานไปกับสังคมที่โตขึ้นเรื่อยๆ โดยนอกจากการรู้ใช้ ยังต้องรู้เท่าทันในการเลือกรับข้อมูลที่ถูกสื่อสาร เพียงแต่การเลือกใช้และนำไปใช้นั้นควรเป็นช่องทางที่สร้างสรรค์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกๆด้าน ทั้งต่อตัวเองและสังคม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง