ประมูล 3 จียังง่อนแง่น "ศาลปกครอง" ให้เอกชนชนะประมูลชี้แจงเพิ่ม

18 พ.ย. 55
14:31
45
Logo Thai PBS
ประมูล 3 จียังง่อนแง่น "ศาลปกครอง" ให้เอกชนชนะประมูลชี้แจงเพิ่ม

ศาลปกครองเรียกบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลใบอนุญาต 3 จี ไต่สวนในวันที่ 20 พ.ย.นี้ หลังจากได้ไต่สวนฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว ทั้งจากฝั่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ร้อง และ ฝั่ง กสทช.ผู้ถูกร้อง ซึ่งประเด็นที่ผู้ตรวจการยื่นฟ้องนั้นเป็นเรื่องที่เห็นว่า การจัดประมูลของ กสทช.ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายของ กสทช.เอง ขณะนี้ กสทช.ได้ชี้แจงเหตุผลต่อศาลในหลายประเด็นด้วยกันที่เห็นว่า หากระงับจะเกิดความเสียหาย และ ยืนยันทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน

มีกฎหมาย 2 ฉบับที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินนำไปสู่การยื่นศาลปกครองครองเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2555 ว่า กสทช.จัดการประมูล ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้แก่ รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 47 เกี่ยวกับการดำเนินการที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน และเกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และ อีกฉบับคือ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2553 เป็นกฎหมายของ กสทช.โดยเฉพาะ โดยคำฟ้องเห็นว่า ขัดในมาตรา 45 ซึ่งเป็นประเด็นว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ต้องทำโดยวิธีประมูล และประกอบมาตรา 41 เกี่ยวข้องว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ต้องนำมาประมูลเท่านั้นและต้องทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี และเป็นธรรม

แม้ กสทช.จัดการประมูลตามกฎหมายแต่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหลักเกณฑ์ที่เอื้อให้เอกชนไม่เสนอราคาแข่งขัน เพราะดูจากใบอนุญาต 9 ใบมีเอกชนอยู่ 3 ราย และโดยเฉพาะหลักเกณฑ์ที่ออกมาไม่ทำให้เอกชนเคาะราคาแข่งขันทำให้มีจำนวน 6 ใบ

การตัดสินใจยื่นฟ้องครั้งนี้ ผู้ตรวจการ ทำในฐานะเป็นตัวแทนประชาชนที่ใช้ช่องทางผู้ตรวจการยื่นร้องเรียนต่อศาล เพราะเห็นว่าการจัดประมูลของ กสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ตรวจการได้พิจารณาร่วมกับสำนวนคำชี้แจงของ กสทช.ที่เดินสายยื่นชี้แจงด้วยเช่นกัน

แต่ตรงกันข้าม กสทช.ผู้ถูกร้องได้ชี้แจงต่อศาลหลายประเด็น เห็นว่า คำฟ้องของผู้ตรวจการแผ่นดินการออกประกาศ และ หลักเกณฑ์การประมูลทำถูกตามกฎหมายทุกขั้นตอน โดยเฉพาะประเด็นไม่เกิดการแข่งขันด้านราคา กสทช.อธิบายว่า เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนจัดสรรคลื่นความถี่เท่านั้นแต่เสรีและเป็นธรรมนั้น ต้องคำนึงถึง ทั้งช่วงก่อน และ ภายหลังการประมูลว่า เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรมหรือไม่

กสทช .บอกว่า หัวใจสำคัญของการประมูลครั้งนี้ คือ ต้องการจัดสรรคลื่นความถี่ออกไปให้หมด เพราะเก็บไว้จะไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ราคาประมูลจะได้เงินน้อย หรือ มากกว่าที่ตั้งไว้ไม่สำคัญ

นอกจากข้อกฏหมายแล้ว กสทช.ยังต่อสู้ในประเด็นที่ว่า หากศาลระงับการประมูลจะเกิดความเสียหายมาก เพราะเอกชน เดินหน้าธุรกิจไปแล้ว ทั้งจากแผนการลงทุนโครงข่าย 3 จี และเงินที่แต่ละบริษัทนำส่งค่าใบอนุญาตงวดแรกให้ กสทช. อีกรายละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทมอบให้ กสทช.เรียบร้อยแล้ว พร้อมชี้แจงศาลว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะมีกลุ่มคนไม่ถูกใจกับสิ่งที่ กสทช.ดำเนินการ

หนึ่งในคณะทำงานสอบพฤติกรรมการฮั้วประมูลเมื่อวันที่มีการเคาะราคา ซึ่งเป็นชุดที่ กสทช.แต่งตั้งขึ้น บอกว่า เอกชนทั้ง 3 ราย ชี้แจงเหตุผลที่ไม่เสนอราคาแข่งกันในการวันประมูล จึงทำให้ราคาสุดท้ายของการประมูลจบที่ราคาตั้งต้น 4,500 ล้านบาท จำนวน 6 ใบอนุญาต เพราะทั้ง 3 บริษัทได้คำนึงถึงแผนการทำธุรกิจ จึงไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเสนอราคาแข่ง และ หลักเกณฑ์ของ กสทช.ไม่มีแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขัน

คดีนี้ผู้ตรวจการขอให้ศาลสั่งใน 2 ประเด็น ได้แก นัดไต่สวนฉุกเฉิน และ ขอให้คุ้มครองชั่วคราว สั่ง กสทช.ระงับการให้ใบอนุญาต 3G กับเอกชนไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา เพราะ กสทช.อยู่ระหว่างทำขั้นตอนต่าง ๆ เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขณะนี้ ซึ่งเห็นว่าหากให้ใบอนุญาตไปแล้วอาจเกิดความเสียหายและแก้ไขเยียวยาอาจมากกว่า ทั้งนี้ศาลได้นัดผู้ตรวจการไต่สวนไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน และนัด กสทช.ในอีกวันถัดมาก่อนจะมีคำสั่งให้ทั้ง 2 ฝ่ายรอฟังคำสั่ง

ศาลปกครองยังมีคำสั่งเรียกบริษัทเอกชน ทั้ง 3 ราย ไต่สวนในวันที่ 20 พ.ย.นี้ตามลำดับ เพื่อประกอบคำวินิฉัยซึ่งการฟ้องร้องครั้งนี้ แตกต่างจากการฟ้องเมื่อปี 2553 ซึ่งครั้งนั้นฟ้องเพราะยังไม่มีหน่วยงาน และ กฎหมายมาบังคับใช้จนนำไปสู่ที่มาของการร่างกฎหมาย กสทช.และ จัดสรรคลื่นความถี่ แต่ครั้งนี้ฟ้องเพราะเห็นว่า กสทช.ปฏิบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ กฎหมายของ กสทช.เอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง