อึ้งเด็ก 90% รับควันบุหรี่ จาก"มือพ่อ" คนในครอบครัว

สังคม
4 ธ.ค. 55
05:23
833
Logo Thai PBS
อึ้งเด็ก 90% รับควันบุหรี่ จาก"มือพ่อ" คนในครอบครัว

ศจย. ชวนพ่อเลิกบุหรี่ เริ่มต้นวันดีในวันพ่อแห่งชาติ วิจัยพบเด็กเล็กเกือบ 90% เสี่ยงอันตรายได้รับควันบุหรี่มือสอบจากในบ้าน พ่อเป็นสิงห์อมควัน ชี้เด็กยิ่งเล็ก ได้รับควันเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่เหตุสรีระทำให้รับควันยิ่งมาก

 น.ส.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ศจย. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนโครงการวิจัยเรื่อง การสัมผัสควันบุหรี่มือสองในบ้านของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ชุมชนช้างเผือก จ.นครราชสีมา ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 80 ครัวเรือน เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ของการสัมผัสควันบุหรี่มือสองกับการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยด้วยโรคหวัด ร้อยละ 91.84 ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ ร้อยละ 8.16 โดยความเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์กับการที่มีผู้สูบบุหรี่ภายในบ้าน ดังนั้นจำเป็นต้องมีโปรแกรมช่วยให้บ้านปลอดบุหรี่ และทำให้ตระหนักถึงภัยของควันบุหรี่มือสอง เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวที่มีเด็กเล็กเลิกบุหรี่ได้ ศจย. จึงอยากเชิญชวนพ่อเลิกบุหรี่ เริ่มต้นวันดีในวันพ่อแห่งชาติ

นางวิภารัตน์ สุวรรณไวพัฒนะ อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลเด็ก วิทยาลัยพยาบาลบรม ราชชนนี นครราชสีมา นักวิจัยในโครงการ กล่าวว่า ผลการวิจัยพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาศัยอยู่ในบ้านที่มีผู้สูบบุหรี่ ร้อยละ 87.5 โดยผู้ที่สูบบุหรี่ของครัวเรือนกลุ่มตัวอย่างคือ พ่อ ร้อยละ 55 .71 ตา ร้อยละ 20 และญาติ ร้อยละ 14.29 ปริมาณที่สูบใน 1 วันมากที่สุดคือ 6-10 มวน หรือครึ่งซอง ร้อยละ 45.71 เฉลี่ยวันละ 11 มวน

ส่วนใหญ่สูบบุหรี่ในบ้าน ร้อยละ 47.14 และสูบในช่วงเวลา 16.00-24 น. ร้อยละ 32.86 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังเลิกงานที่สมาชิกในบ้านอยู่ครบทุกคน โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งอยู่ในบ้านค่อนข้างยาวนานเฉลี่ย 17.39 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ ยังพบว่า การสูบบุหรี่เกิดขึ้นขณะที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีอาศัยอยู่ด้วย ถึงร้อยละ 70

“ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่คือ 97.74 ทราบว่าการสูบบุหรี่ขณะเด็กอยู่ด้วย ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพเด็ก และคนในครอบครัว แต่ยังพบการสูบบุหรี่ในขณะที่มีเด็กอยู่ด้วยถึงร้อยละ 70 โดยทุกคนเคยได้รับการขอให้เลิกสูบบุหรี่จากบุคคลในครอบครัว มีสมาชิกในครอบครัว ร้อยละ 86.72 เคยขอให้หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ในที่ที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูบบุหรี่เคยพยายามเลิกด้วยตัวเองถึง ร้อยละ 78.95 แต่ยังไม่สามารถทำได้” นางวิภารัตน์ กล่าว

รศ.พญ.วนพร อนันตเสรี อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คือ เด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้บ่อยอยู่แล้ว เช่น โรคหวัด หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบเป็นต้น ทั้งนี้เพราะร่างกายยังอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคต่ำ

ถ้าเด็กกลุ่มนี้สัมผัสควันบุหรี่ยิ่งเพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้มากขึ้นเนื่องจากควันบุหรี่ทำให้ทางเดินหายใจบวม เด็กเล็กที่มีการติดเชื้อระบบหายใจจะมีอาการของความเจ็บป่วยได้มากว่าเด็กโตเนื่องจากทางเดินหายใจมีขนาดเล็ก กำจัดสิ่งคัดหลั่งได้ยาก ทำให้หลอดลมอุดตันได้ง่าย อาจเกิดอาการหอบเหนื่อย หรือได้ยินเสียงวี้ดได้ ในระยะยาวอาจเกิดอาการหอบซ้ำได้ ดังนั้นควรให้ความสำคัญในการป้องกันเด็กจากการสัมผัสควันบุหรี่มือสอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง