อ่านโดราเอมอนในสายตาผู้ใหญ่ แฝงมุมมองของสังคมมากกว่าที่คิด

Logo Thai PBS
อ่านโดราเอมอนในสายตาผู้ใหญ่ แฝงมุมมองของสังคมมากกว่าที่คิด

โดราเอมอนเป็นหนึ่งในการ์ตูนไม่กี่เรื่องที่ยังครองใจเด็กๆ มาได้หลายยุคสมัย แต่หากได้ลองเปิดอ่านด้วยสายตาผู้ใหญ่อีกครั้ง การ์ตูนที่เคยให้ความสนุกสนานในวัยเด็กอาจแฝงมุมมองของสังคมผู้ใหญ่ได้มากกว่าที่คิด

โนบิตะที่มาจากชนชั้นกลางแต่ไม่ได้มีเงินมากนัก มักจะอิจฉาของเล่นใหม่ๆ ที่ซึเนโอะผู้ร่ำรวยกว่า นำมาอวดอยู่เสมอ ขณะที่ไจแอนท์เป็นเหมือนตัวแทนของชนชั้นแรงงาน มักใช้กำลังเข้าตัดสินมากกว่าเรื่องเงินทอง ส่วนชิซูกะ สาวน้อยที่เหมือนจะอยู่เหนือความขัดแย้งเรื่องฐานะ แต่ก็สืบทอดนามสกุลมินาโมโตะซึ่งเป็นราชวงศ์เก่า และเป็นเป้าหมายในอนาคตที่โนบิตะพยายามไขว่คว้าอยู่เสมอ

<"">

 

ตัวละครหลักในเรื่องโดราเอมอน ที่อาจนำมาเป็นตัวแทนของชนชั้นต่างๆ ตามแนวคิดทฤษฎีมาร์กซิสม์ นำมาเสวนาในหัวข้อ ย้อนอ่านโดราเอมอนกันดูไหม โดยชมรมวรรณศิลป์ร่วมกับชมรมสนทนาภาษาสิงห์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เพียงนำนำเรื่องราวของโดราเอมอนมาเชื่อมโยงกับสังคมแบบทุนนิยม เพื่อให้เห็นมุมมองทางสังคมศาสตร์ที่สอดแทรกไว้ภายในเนื้อเรื่องสำหรับเด็ก แต่ยังสะท้อนว่าการ์ตูนที่ดีย่อมให้คุณค่าที่แตกต่างกันไปได้ตามแต่ละช่วงวัยของผู้อ่าน

"ตามเนื้อเรื่องโนบิตะต้องแต่งงานกับไจโกะน้องของไจแอนท์แล้วถูกกดขี่ แต่พยายามจะหนีจากชนชั้นนั้นด้วยการเอาชิซูกะเป็นเป้าหมาย" ภูมิ น้ำวล นักวิชาการและบรรณาธิการอิสระ ขณะที่จตุชัย แซ่ซือ นิสิตผู้จัดงานเสวนา กล่าวถึงจึงมุ่งหมายในการเสวนาครั้งนี้ว่า ต้องการให้ลองอ่านโดราเอมอนในสายตาแบบใหม่

หากมองในมุมรัฐศาสตร์ แม้โดราเอมอนจะกำเนิดในต้นยุค 70 ช่วงที่โลกกำลังแบ่งขั้วการเมืองออกสองฝ่ายในสงครามเย็น แต่ด้วยภูมิประเทศเป็นเกาะ ทำให้ญี่ปุ่นไม่ได้รับแรงกดดันจากลัทธิการเมืองมากนัก สังคมของเด็กๆ ในโดราเอมอนจึงกลับสู่ความบริสุทธิ์ของวัยเด็ก มักจบตอนด้วยความสันติและประนีประนอมไร้ซึ่งความเป็นชาตินิยม ทำให้มีความเป็นสากลมากกว่าวรรณกรรมหรือสื่อบันเทิงอื่นๆ ในยุคเดียวกันที่มักมีเรื่องความสิ้นหวัง หรือความเป็นความตายในชีวิตมาเกี่ยวข้อง

"โดราเอมอนจะสากล เข้าถึงได้มากกว่า ถ้าเทียบกับดราก้อนบอลหรือเซเลอร์มูนที่หันไปพูดถึงประเด็นอื่นๆ เช่นเรื่องการเติบโต" เสกสรร อานันทศิริเกียรติ อดีตประธานชมรมสนทนาภาษาสิงห์

ในวงเสวนายังนำโดราเอมอนมาสะท้อนทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมัน ฟรอยด์ ได้ว่าความไม่เอาไหน คอยแต่จะขี้เกียจของโนบิตะ เปรียบได้ดัง ego หรือสัญชาตญาณภายในของมนุษย์ ขณะที่โดราเอมอนคือ superego ผู้คอยผลักดันให้โนบิตะขยันขันแข็ง อดทนอดกลั้น ตลอดจนอยู่ในกรอบของศีลธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่และอยู่ร่วมกันต่อไปได้ในสังคม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง