ค่าแรง 300 บาท จุดเปลี่ยนแรงงานไทย

24 ธ.ค. 55
13:13
100
Logo Thai PBS
ค่าแรง 300 บาท จุดเปลี่ยนแรงงานไทย

นโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนขั้นต่ำ15,000 บาทต่อเดือน เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ และเป็นจุดเปลี่ยนแรงงานไทย ครั้งหนึ่งในรอบกว่า 10 ปี ซึ่งยังจะเป็นที่กล่าวถึงต่อเนื่องและคงจะต่อเนื่องไปถึงปี 2556 เนื่องจากมีผลกระทบสูง

อ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน จาก ทีดีอาร์ไอ มองถึงแง่ดีจากผลการใช้นโยบายนี้ไปแล้วรอบแรกตั้งแต่ 1 เมษายนที่ผ่านมาใน 7 จังหวัด ทั้งกรุงเทพมหานคร, ปริมณฑล และภูเก็ต รวมถึงเพิ่มร้อยละ 40 ในจังหวัดที่เหลือว่า ได้กระตุ้นให้ธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัวด้านการผลิตอย่างมาก

โดยยืนยันจากตัวเลขผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน โดยก้าวกระโดดเป็นเท่าตัวที่ร้อยละ 8 ต่างจากอดีตที่จะเพิ่มเพียงร้อยละ 3-4 มาโดยตลอด อ.ยงยุทธเรียกว่าภาวะช็อค ที่ต้องปรับตัวให้อยู่รอด

 

<"">
 
<"">

ส่วนผลสำรวจจากศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ระบุถึงการขึ้นค่าแรงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการปรับตัวโดยใช้วิธีขึ้นราคาสินค้ามากที่สุดร้อยละ 55.3 รองลงมาคือเลื่อนจ้างพนักงานเพิ่ม และพยายามลดต้นทุนด้านอื่น ขณะที่แนวทางปรับตัวด้วยการนำเครื่องจักรมาแทนพนักงานตามที่รัฐบาลเคยเสนอแนะ เป็นตัวเลือกในลำดับท้ายๆ

ภาคเอกชนจึงพยายามเรียกร้องแนวทางเยียวยาเอสเอ็มอีไปถึงมือรัฐบาล ทั้งสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเกือบ 3 ล้านราย และผ่านคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน หรือ กกร. ใน 7 มาตรการ เช่น การลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมลงร้อยละ 2.5 เป็นเวลา 3 ปี, ปรับลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายของธุรกิจรับเหมาช่วงจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 0.1

หลังการประชุมอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 2 ครั้ง ซึ่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนองรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลายข้อเสนอถูกคัดทิ้ง ส่วนข้อเสนอสำคัญที่เหลือยังไม่ชัด

 

<"">
 
<"">

โดยเฉพาะแนวทางที่ตรงจุดที่สุด คือการตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทเป็นเวลา 3 ปี ภาคเอกชนขอรัฐชดเชยปีแรกร้อยละ 75 แล้วค่อยลดลงในปีที่ 2 และ 3 เหลือร้อยละ 50 และ 25 ตามลำดับ

ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เสนอว่า ผู้ประกอบการสามารถรับกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 15 รัฐบาลควรช่วยชดเชยส่วนที่เหลือ ซึ่งจะใช้งบประมาณปีแรกกว่า 75,000 ล้านบาท และลดลงในปีต่อมา รวมต้องใช้เงิน 14 0,000 ล้านบามช่วยชดเชยเป็นเวลา 3 ปีให้ผู้ประกอบการยังรักษาการจ้างงาน ไม่ให้กระทบเศรษฐกิจโดยรวม

แนวทางนี้ นายกิตติรัตน์ โยนกลองว่าขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ครม.ที่จะมีรัฐมนตรีอีกหลายคนให้ความเห็น ความหวังจึงอยู่ที่การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายก่อนสิ้นปีวันพรุ่งนี้ เพื่อไม่ให้มีเอสเอ็มอีเลิกจ้าง ปิดกิจการ 1 ล้านราย หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ควรจะเป็นร้อยละ 2-3 อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง