การเสียภาษีของนักแสดงสาธารณะ เรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย และอาจล้มละลายสำหรับบางคน

Logo Thai PBS
การเสียภาษีของนักแสดงสาธารณะ เรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย และอาจล้มละลายสำหรับบางคน

เมื่อบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นนักแสดงสาธารณะต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงและแตกต่างจากคนทั่วไป ภาษีจึงกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย และอาจถึงขั้นล้มละลายสำหรับบางคน แต่นักแสดงส่วนหนึ่งก็เตรียมพร้อมในเรื่องนี้

<"">
<"">

เป็นประเด็นร้อนให้กรมสรรพากรต้องจัดสัมนา "การเสียภาษีของนักแสดงสาธารณะ"เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจ่ายภาษีของคนวงการบันเทิง หลังบริษัทอีเวนท์คู่กรณี พลอย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ออกมาเปิดเผย และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการแสดงหลักฐานรับเงินของนักแสดงสาวโดยใช้ชื่อผู้อื่น ซึ่งทำให้สามารถหักภาษีในอัตราร้อยละ 3 ได้ จากที่ต้องจ่ายร้อยละ 5 ในฐานะที่เป็นนักแสดงสาธารณะ

มีผลงานการแสดงเฉพาะภาพยนตร์อย่างเดียวกว่า 600 เรื่อง จนถึงระดับบันทึกไว้ใน "กินเนสบุ๊ค" แต่สมบัติ เมทะนี กลับเป็นอีกคนที่ต้องเผชิญกับการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังด้วยความไม่ตั้งใจ จนถึงวันนี้ยังคงต้องผ่อนชำระมากว่า 10 ปี และยังมีนักแสดง นักร้อง และคนในวงการบันเทิงอีกจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับภาระรายจ่ายด้านภาษี ซึ่งมีขั้นตอนแตกต่างจากบุคคลทั่วไปและยังต้องจ่ายในอัตราก้าวหน้า

งานที่มีเพิ่มมากขึ้น นอกจากงานด้านการแสดง ทำให้ดารา นักแสดง ต้องมีความรอบคอบในเรื่องเอกสารรายรับ รายจ่ายมากขึ้น คิวงานทั้งละคร โชว์ตัว ถ่ายแแบบ และพิธีกร ที่มีแทบทุกวัน ทำให้แต่ละปี ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ต้องจ่ายภาษีเงินได้รวมถึง 1,200,000 บาท ทุกครั้งที่ได้รับหลักฐานซึ่งแสดงการรับเงินจากผู้ว่าจ้าง จึงต้องตรวจสอบความถูกต้องอย่างละเอียดทุกครั้ง เพราะเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ยืนยันการชำระภาษีกับสรรพากร โดยรายได้ของนักร้องนักแสดง จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา ร้อยละ 5 ของเงินได้ และนำรายได้ทั้งหมดไปคำนวณภาษีปลายปีในอัตราก้าวหน้า ขณะที่ประชาชนทั่วไปจะนำรายได้มาคำนวณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียงครั้งเดียวในช่วงปลายปี

<"">

 

โดยผู้มีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี หากมากกว่านี้จนถึง 300,000 บาท ต้องชำระภาษีในอัตราร้อยละ 5 ผู้มีรายได้มากกว่า 300,000 ไปจนถึง 500,000 บาทชำระภาษี ร้อยละ 10 และมากกว่า 500,000 บาท ถึง 750,000 บาท เสียภาษีร้อยละ 15 ขณะที่รายได้มากกว่า 750,000 ไม่เกิน 1,000,000 บาท ชำระภาษีร้อยละ 20 และผู้มีรายได้ 1,000,000 บาทขึ้นไปถึง 2,000,000 บาท ชำระภาษีร้อยละ 25 ส่วนรายได้มากกว่า 2,000,000 แต่ไม่เกิน 4,000,000 บาท ชำระภาษีร้อยละ 30 หากรายได้สุทธิมากกว่า 4,000,000 บาทขึ้นไป ต้องชำระภาษีร้อยละ 35

ยิ่งมีเงินได้มาก ก็ต้องยิ่งจ่ายภาษีมากเป็นเงาตามตัว การตรวจตราอย่างรอบคอบ รวมถึงจ้างผู้ชำนาญมาดูแลบัญชีโดยเฉพาะเป็นอีกวิธีป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ตลอดกว่า 10 ปี บุ๋ม ปนัดดา กล่าวว่า เธอไม่เคยมีปัญหาเรื่องการจ่ายภาษี

<"">
<"">

 

รายได้ดี แต่มีเวลารุ่งโรจน์ไม่นานนัก นับจากนี้บางคนเท่านั้นที่ยังมีรายได้พอเลี้ยงชีพ หากส่วนหนึ่งต้องเบนเข็มจากวงการบันเทิง อาชีพรับจ้างอิสระที่ไร้สวัสดิการและความมั่นคง คือสิ่งที่คนบันเทิงจำต้องรับสภาพนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่วงการ

"จ่ายภาษีไปแล้ว อยากได้อะไรกลับคืน" ปนัดดา วงศ์ผู้ดี นักแสดง ส่วนเบญจวรรณ อาร์ดเนอร์ นางแบบ กล่าวว่า "จ่ายภาษีไปแล้ว แต่ว่าไม่มีสวัสดิการอะไร"

แต่ละปีคนวงการบันเทิงส่วนหนึ่งต้องจ่ายภาษีเป็นเงินหลายล้านบาท หากอาชีพนักแสดงสาธารณะที่ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพื่อการดูแลภาพลักษณ์ กรมสรรพากรจึงให้สามารถหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวแบบเหมาจ่ายได้ไม่เกิน 600,000 บาทต่อปี โดยปีที่ผ่านมา(2555) กรมสรรพากรมีฐานผู้เสียภาษีเกือบสิบล้านราย จากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 64 ล้านคน คิดเป็นเงินภาษีกว่า 16,000 ล้านบาท เป็นกลุ่มผู้ยื่นภาษีแบบ ภ.ง.ด. 90 หรืออาชีพอิสระ ประมาณ 2 ล้านราย และยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ผู้มีรายได้ประจำกว่า 7 ล้านราย

แต่ละปีผู้มีรายได้จะต้องยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม หากไม่ยื่นตามกำหนดหรือจ่ายภาษีไม่ครบจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และต้องจ่ายภาษีย้อนหลังทั้งหมดคูณเพิ่มอีก 1.5 ต่อเดือน ซึ่งจะกลายเป็นเงินจำนวนมากที่สร้างภาระเรื่องรายจ่าย จนหลายคนถึงขั้นล้มละลายเพราะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังมาแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง