การเติบโตของธุรกิจหนังสือไทยและความหมายของที่แท้จริงของ "เมืองหนังสือโลก"

Logo Thai PBS
การเติบโตของธุรกิจหนังสือไทยและความหมายของที่แท้จริงของ "เมืองหนังสือโลก"

ในปี 2556 กรุงเทพมหานครได้รับเลือกจากองค์การยูเนสโก้ให้เป็น เมืองหนังสือโลกลำดับที่ 13 ซึ่งจะตามมาด้วยกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการอ่านตลอดทั้งปี รวมถึงการเติบโตของธุรกิจหนังสือ แต่ปัญหาในแวดวงวรรณกรรมตลอดปีที่ผ่านมาก็ทำให้หลายคนต้องตั้งคำถาม ถึงความหมายของที่แท้จริงคำว่าเมืองหนังสือโลก

เป็นคำถามและข้อถกเถียงใหญ่ที่สุดของคนในแวดวงการวรรณกรรมปี 2555 เมื่อ 2 สายส่งรายใหญ่ ซีเอ็ดยูเคชั่นและอมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์ ออกประกาศเรียกเก็บเงินค่ากระจายสินค้าเพิ่มขึ้น 1% จากราคาปก ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงสำนักพิมพ์รายย่อย และ คนอ่าน แม้ที่สุดจะทานเสียงคัดค้านไม่ไหวและประกาศเลื่อนใช้ไปจนกว่าจะมีผลการศึกษา ซึ่งจะออกมาราวเดือนกุมภาพันธ์ปี 2556

<"">

 

แต่ล่าสุด ก็มีการใช้มาตราการนี้บางส่วนไปแล้วโดยขึ้นอยู่กับข้อตกลงทางธุรกิจและระหว่างสายส่งกับสำนักพิมพ์ ไม่เพียงเป็นมาตรการทางธุรกิจที่สำนักพิมพ์ไม่มีสิทธิ์ต่อรองมากนัก ยังชี้ให้เห็นว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ในปัจจุบันกำลังถูกกำหนดทิศทาง โดยเจ้าของธุรกิจรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า

วรรณกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศทางเลือกซึ่งเติบโตขึ้นมากในช่วงหลายปีมานี้ เป็นอีกตลาดหนังสือเฉพาะกลุ่มที่ต้องเผชิญกับปัญหาการถูกจำกัดพื้นที่วางแผงโดยร้านผู้จัดจำหน่ายหนังสือรายใหญ่ จากจดหมายแจ้งวิธีการจัดแผงหนังสือเมื่อต้นเดือนธันวาคม แม้จะมีการชี้แจงในภายหลังว่าทางผู้จัดนำหน่ายเพียงต้องการแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจนระหว่างวรรณกรรมเยาวชนกับนิยายโรแมนติก อีโรติก ที่อาจมีเนื้อหาไม่เหมาะสม แต่นี่ก็เป็นอีกครั้งที่เกิดกระแสประท้วงต่อต้าน ในเรื่องของการวางกฎของร้านจัดจำหน่ายรายใหญ่ ที่อาจกีดกันวรรณกรรทางเลือกออกจากแผงหนังสือ

<"">
<"">

 

"ปัญหาคือเรื่องการสื่อสาร เพราะไม่ค่อยทำความเข้าใจกันระหว่างร้านจัดจำหน่ายกับสำนักพิมพ์เล็ก ซึ่งทางสมาคมก็พยายามกระตุ้นให้มีการพูดคุยกันมากขึ้น" วรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือ

ขณะที่วงการวรรณกรรมยังคงมีปัญหา และเต็มไปด้วยข้อถกเถียงของคนในแวดวงหนังสือ หากปี 2556 ก็จะเป็นปีที่มีกิจกรรมสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านตลอดทั้งปี ในฐานะที่กรุงเทพมหานครได้รับเลือกจากยูเนสโก้ให้เป็นเมืองหนังสือโลก

กิจกรรมการเปิดห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ซอยพระนาง ที่ได้รับบริจาคหนังสือหนึ่งหมื่นห้าพันเล่ม จากนักเขียนชื่อดัง อาจินต์ ปัญจพรรค์ รวมถึงโครงการวรรณกรรมวิจารณ์ ที่เปิดเวทีให้นักอ่านได้พูดคุยกับนักเขียน คือส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อนำหนังสือเข้าไปใกล้ชิดกับประชาชนหวังเพิ่มอัตราการอ่านหนังสือของคนไทยจากค่าเฉลี่ย 5 เล่ม เป็น 10-20 เล่ม/ปี ภายในปีนี้(2556)

<"">
<"">

 

"กทม.มีแผนจะทำห้องสมุดเพิ่ม ไม่เสียเปล่าแน่" ทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

"ไม่เห็นความต่างอะไรระหว่างก่อนเป็นกับหลังเป็น" ชมัยพร แสงกระจ่าง นักเขียน

เพียงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 18 หรือคิดเป็นเงินกว่าสี่หมื่นล้านบาท ซึ่งเกือบครึ่งเป็นการเติบโตของตลาดหนังสือ แต่ปัญหาเรื่องการผูกขาดทางธุรกิจ และ การถูกจำกัดพื้นที่ของวรรณกรรมทางเลือกและวรรณกรรมสร้างสรรค์ ยังคงเป็นคำถามว่าตัวเลขที่เติบโต อาจไม่ได้สะท้อนความรุ่งเรืองของวงการวรรณกรรมไทย และยังเป็นเรื่องสวนทางกับการรณรงค์การอ่านในฐานะเมืองหนังสือโลกลำดับที่ 13


ข่าวที่เกี่ยวข้อง