"เจิมมาศ" ชี้รัฐบาลขาดมาตรการรองรับผลกระทบ ก่อนขึ้นค่าแรง 300 บาท

การเมือง
10 ม.ค. 56
08:12
58
Logo Thai PBS
"เจิมมาศ" ชี้รัฐบาลขาดมาตรการรองรับผลกระทบ ก่อนขึ้นค่าแรง 300 บาท

"เจิมมาศ" ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ชี้รัฐบาลไม่ได้เตรียมการรองรับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาททำให้ผู้ประกอบการ และ แรงงานในประเทศถูกเลิกจ้างจำนวนมาก ขณะที่ รมช.คลัง-รมว.แรงงาน ประสานเสียงยืนยันเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยช่วยผู้ประกอบการในเรื่องภาษีและการปล่อยสินเชื่อ ส่วนภาคแรงงานให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเข้าไปช่วยเหลือแล้ว

 นางเจิมมาศ จึงเลิศสิริ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในเรื่องมาตรการลดผลกระทบหลังขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทว่า หลังจากรัฐบาลได้ขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการ และแรงงานต้องถูกเลิกจ้างไปทำให้แรงงานบางส่วนมองว่า ค่าแรงเดิมรวมกับสวัสดิการก่อนหน้านี้ยังสูงกว่าค่าแรง 300 บาทในปัจจุบัน แต่ตอนนี้แม้ค่าแรงจะเพิ่มเป็น 300 บาทแต่เจ้าของโรงงาน หรือ บริษัทได้ลดสวัสดิการ ,ลดค่าล่วงเวลา (โอที) เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ตอนนี้แม้ค่าแรงจะเพิ่มขึ้น แต่แรงงานลำบากมากขึ้น

 
นอกจากนี้การช่วยเหลือจากภาครัฐยังไม่ชัดเจนเพราะแม้จะมีมาตรการออกมาแต่ผู้ประกอบการรายเล็กยังเข้าไม่ถึง รวมถึงหลายกิจการจำเป็นต้องปิดตัวเพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ ขณะที่แรงงานจำนวนมากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างอีกจำนวนมากในอนาคต
 
"รัฐบาลไม่ได้วางแผนรับมือถึงกระทบที่เกิดขึ้นเลย ก่อนที่ประกาศใช้นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งมาตรการที่ออกมาล่าสุด เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น" ส.ส.กทม.กล่าวทิ้ง
 
ขณะที่นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงว่า รัฐบาลได้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยได้ต่ออายุ 11 มาตรการเดิม และครม.ได้ออก 5 มาตราหลัก 15 มาตราย่อยในช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นมาตราการทางภาษี การปล่อยสินเชื่อ และกานลดหย่อนทางภาษี เป็นต้น
 
นอกจากนี้นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวเพิ่มว่า ในส่วนของผู้ประกอบการจะอ้างว่าปรับตัวไม่ทันไม่ได้เพราะรัฐบาลได้นำร่องขึ้นค่าแรง 300 บาทใน 7 จังหวัดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา(2555) ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าแล้ว
 
ขณะเดียวกันก่อนการประกาศใช้นโยบายดังกล่าวรัฐบาลได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือหลายรอบแล้วเพื่อเตรียมรับมือกับมาตรการที่จะออกมา โดยในส่วนของแรงงานได้ให้กรมสวัสดิการแรงานทุกจังหวัดเข้าไปช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง พร้อมให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานช่วยในการอบรมทักษะเพิ่มเติมระหว่างหางานใหม่ด้วย
 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง