คปก.ชงร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ

สังคม
28 ม.ค. 56
13:53
361
Logo Thai PBS
คปก.ชงร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ

เลือกปฏิบัติฯ โทษหนักจำคุก 3 ปี ปรับ 360,000 บาท

 นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือ เรื่อง แนวทางการตรากฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนได้แก่ บันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง แนวทางการตรากฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ... (ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย) เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ปัจจุบันร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างเพศ (ฉบับเสนอโดยคณะรัฐมนตรี) อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร 

 
ขณะเดียวกันเครือข่ายเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรสิทธิในเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 15,636 คน เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ...(ฉบับภาคประชาชน) ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2555 ซึ่งร่างฯฉบับประชาชนอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม คปก.ได้พิจารณาและมีข้อเสนอแนะบางประการพร้อมทั้งยกร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. ... ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายนี้ประกอบการเสนอแนะดังกล่าวด้วย 
 
จากการพิจารณา คปก. มีความเห็นที่สำคัญหลายประเด็น ได้แก่ ให้นิยามความหมายที่สำคัญ ของคำว่า "เพศ" "เพศภาวะ" "เพศวิถี" "การส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ" "การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ" "ความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศ" "การคุกคามทางเพศ" และ "บุคคลที่ควรได้รับการส่งเสริมโอกาสเป็นพิเศษ"เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน โดยไม่ต้องใช้ดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตีความตามกฎหมาย และสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention for the Elimination of All Forms of Discrimination against Women (CEDAW) 
 
ประเทศไทยได้เป็นรัฐภาคีโดยการภาคยานุวัติในอนุสัญญาดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ.2528 นอกจากนี้ ยังระบุถึงการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศโดยห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมทั้งทางตรงและทางอ้อมในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน และควบคุมการดำเนินงานของรัฐและเอกชนในการวางนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน มิให้เกิดการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ 
 
คปก.ยังให้เสนอให้มีการคุ้มครองและส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนต้องคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ และความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศ ต้องส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศในด้านต่าง ๆทุกมิติอย่างทั่วถึงและเสมอภาคทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีคณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า "คณะกรรมการ สคพช." ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการสรรหา และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ วลพ.”มีอำนาจหน้าที่ประการหนึ่ง เช่น วินิจฉัยคำร้องว่ามีการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศและความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศโดยมิชักช้า โดยให้มีอำนาจตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการวินิจฉัย และฟ้องคดีต่อศาลแทนผู้ร้อง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ รับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการของคณะกรรมการ สคพช. และคณะกรรมการ วลพ.ด้วย 
 
นอกจากนี้ ยังเห็นควรกำหนดให้จัดตั้ง "กองทุนส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ" เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุน สำนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ และให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ สพคช. 
 
โดย คปก.ยังเห็นควรให้มีบทกำหนดโทษ ซึ่งระบุความผิดสำหรับผู้กระกระทำการอันเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หากเป็นการกระทำโดยทุจริตหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 360,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดาน ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ลูกจ้าง ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ผู้มีอำนาจหน้าที่ให้บริการตามวิชาชีพผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการ หรืออยู่ในความปกครองในความพิทักษ์หรือในความอนุบาล ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ข้างต้นหนึ่งในสาม 
 
ทั้งยังระบุว่า หากคณะกรรมการ วลพ. เห็นว่าผู้กระทำผิดไม่ควรได้รับโทษจำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องเมื่อบุคคลนั้นและผู้เสียหายยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้คณะกรรมการ วลพ. เปรียบเทียบโดยกำหนดให้บุคคลนั้นชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันเปรียบเทียบ และเมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นด้วย 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง