บทบาท "ผู้หญิง" ในหนังจีน พื้นที่ที่นอกเหนือจากกรอบเคร่งครัดของสังคม

Logo Thai PBS
บทบาท "ผู้หญิง" ในหนังจีน พื้นที่ที่นอกเหนือจากกรอบเคร่งครัดของสังคม

นอกจากเป็นสื่อเพื่อความบันเทิง ภาพยนตร์ยังเป็นกระจกสะท้อนสังคมและเป็นพื้นที่ปลดปล่อยจินตนาการ ตัวอย่างนี้มีให้เห็นในหนังจีน ที่โลกภาพยนตร์ยังเป็นพื้นที่ให้ผู้หญิงได้ทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริงเนื่องจากข้อจำกัดที่เคร่งครัดของสังคม

"มิอาจกู้ชาติพ้นภัย ตอบแทนบุญคุณมาตุภูมิ พลีชีพเพื่อราษฎรได้" เนื้อหาในบทกลอนสุดท้ายที่ ชิ่วจิน นักเรียกร้องสิทธิสตรีและนักปฏิวัติหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ ประพันธ์ทิ้งไว้ก่อนถูกประหารชีวิต ระบายความในใจที่ไม่สามารถปฏิวัติประเทศได้สำเร็จ ในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง The Woman Knight of Mirror Lake หรือวีรกรรมของ หรูจี ที่ยอมสละชีวิตของตนเองเพื่อหยุดยั้งสงครามระหว่างแคว้น ดัดแปลงจากเค้าโครงเรื่องจริงในภาพยนตร์ Call to Arm ตัวอย่างภาพยนตร์ที่นำเรื่องราวของสตรีผู้มีบทบาททางการเมืองจีนมาบอกเล่า หากบ่อยครั้งมักจบลงด้วยโศกนาฏกรรม สะท้อนความเป็นจริงของสังคมจีนที่ผู้หญิงยังต้องอยู่ในกรอบ นำมาให้ชมในงานเสวนาและฉายภาพยนตร์ "ผู้หญิงในโลกภาพยนตร์จีนและจีนกำลังภายใน" โดยโครงการภาพยนตร์นานาชาติ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในวาระเดือนชาตกาลของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

   

นงลักษณ์ เหล่าวอ  ผู้เชี่ยวชาญภาพยนตร์จีน บอกว่า  บางทีในประวัติศาสตร์ถ้าเราอ่าน บางเรื่องมันก็จบไม่สวยหรอก ในความเป็นหนังมันก็ต้องทำออกมาให้มันต้องส่งเสริมคน ให้คนมีความกล้า เราจะทำอะไรซักอย่างต้องมีความศรัทธา บางทีศรัทธาไม่พอก็ต้องมีผู้นำ มีตัวอย่าง มีไอดอลให้รู้สึกจับต้องได้ ยิ่งถ้าหนังทำให้รู้สึกว่าคนนั้นเป็นคนธรรมดา แต่มีบางอย่างที่สามารถดึงคนได้ มันจะช่วยให้สังคมหรือว่าคนเนี่ยรู้สึกว่ามีอุดมการณ์ นำพาประเทศไปสู่จุดที่มันดีขึ้น มันจะช่วยได้เยอะ

ไม่เพียงสร้างชื่อให้เจิ้งเพ่ยเพ่ยกลายเป็นราชินีนักบู๊จากบทบาทจอมยุทธ์หญิงในภาพยนตร์จีนกำลังภายในปี 1966 เรื่อง Come Drink with me หรือหงส์ทองคะนองศึก แต่ยังการันตีความสำเร็จของหนังจีนกำลังภายในที่เริ่มให้ผู้หญิงสวมบทบาทนักแสดงนำ จนทำให้มีการสร้างภาพยนตร์แนวนี้ตามมาและกลายเป็นสูตรสำเร็จของภาพยนตร์จีนกำลังภายใน ไม่ว่าจะเป็น Golden Swallow หรือ The Girl with the Thunderbolt Kick ที่ใช้นักแสดงหญิงคนเดิมรับบทบาทเป็นตัวหลัก รวมถึง A Touch of Zen หรือ ตะลุยแดนศักดิ์สิทธิ์ ภาพยนตร์จีนเรื่องแรกที่คว้ารางวัลเทคนิคพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 28 และได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสี่ภาพยนตร์จีนดีเด่นของโลกจากนิตยสารไทมส์ รวมถึงได้รับยกย่องให้เป็นหนังจีนกำลังภายในที่ดีที่สุดในรอบร้อยปี

ด้านสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย  ผู้เชี่ยวชาญภาพยนตร์จีน ระบุว่า หนังจีนกำลังภายในเป็นหนังประเภทเดียวที่สามารถใส่ปรัชญา อุดมคติเข้าไปได้อย่างสมบูรณ์ หนังปัจจุบันทำไม่ได้ ในชีวิตตามปกติเนี่ยเว่อร์ไม่ได้ พอมันเว่อร์ไม่ได้ก็ใส่จินตนาการไปไม่ได้ ใส่อุดมการณ์ทางการเมืองไปไม่ได้  มันเป็นหนังกึ่งอุดมคติ ในชีวิตจริง เราอาจจะไม่อยากเจอก็ได้ เราดูแล้วมันดี ดูแล้วมันสนุก เค้าเก่งได้ขนาดนั้น เค้าตบตีสามีได้ขนาดนั้น แต่ในภาวะที่จริงๆ ถ้าเกิดขึ้นในครอบครัวจริง เราอยากจะไม่ชอบก็ได้ แต่ว่าเราอยากจะให้เป็น มันเป็นการปลดปล่อยในชีวิตจริงที่ทำไม่ได้

   

ส่วนนงลักษณ์ เหล่าวอ  ผู้เชี่ยวชาญภาพยนตร์จีน กล่าวว่า มันอาจจะไม่ใช่เชิดชูผู้หญิงว่าเป็นฮีโร่แต่เพียงอย่างเดียวเสมอไป มันไม่จำเป็น ในมุมความเป็นหนังของผู้หญิงมันมีมุมให้หยิบมาพูดได้เยอะมาก เรารู้สึกว่ามันมีความอ่อนไหวอ่อนหวาน ตรงนี้น่าจะเป็นเสน่ห์ที่หยิบยกความโดดเด่นของผู้หญิงขึ้นมาให้มัน support หนังได้เยอะ

บทบาทที่โดดเด่นมากขึ้นของผู้หญิงในภาพยนตร์จีนกำลังภายในจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้นักแสดงหญิงได้แสดงความสามารถ และสะท้อนภาพสังคมของประเทศจีนยุคใหม่ที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม หากบ่อยครั้งที่ตัวละครหญิงเหล่านี้ต้องปลอมแปลงตัวเป็นผู้ชายเพื่อให้ได้รับการยอมรับ อาจเท่ากับว่าผู้หญิงจีนยังไม่สามารถก้าวพ้นข้อจำกัดทางสังคมที่มีมาแต่โบราณได้อย่างเต็มที่


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง