นักวิจัยชี้ศิลปินปี 1991 เปลี่ยนโฉมหน้าดนตรีโลกมากที่สุด

Logo Thai PBS
นักวิจัยชี้ศิลปินปี 1991 เปลี่ยนโฉมหน้าดนตรีโลกมากที่สุด

ความเชื่อว่าดนตรีในยุค 60 คือเหตุการณ์เปลี่ยนโฉมหน้าดนตรีโลกต้องถูกท้าทาย เมื่อผลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พบว่าความหลากหลายของดนตรีในปี 1991 ที่เพลงฮิปฮอป และแร็ปเริ่มโด่งดังไปทั่วโลก คือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าทางดนตรีอย่างแท้จริง

ปีเดียวกับที่วงการเพลงเมทัลตื่นตัวถึงขีดสุด เมื่อ Metallica และ Guns N' Roses พร้อมใจกันออกผลงานที่โด่งดังไปทั่วโลก Nirvana และ Red Hot Chili Peppers ก็เปิดตัวอัลบั้มที่ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าดนตรีไปสู่ยุคทองของดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ ร็อก ขณะที่วงร็อกชั้นนำอย่าง R.E.M. และ U2 เปิดตัวอัลบั้มชั้นยอดของวงพร้อมๆ กัน ราชาเพลงป็อป ไมเคิล แจ็กสัน ก็โด่งดังไปทั่วโลกอีกครั้งกับอัลบั้ม Dangerous ผลงานเหล่านี้ คือสิ่งบ่งบอกความโดดเด่นของวงการเพลงปี 1991 ที่นักวิจัยอังกฤษยกให้เป็นปีที่วงการเพลงมีการปรับเปลี่ยนแนวเพลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการดนตรี 
 
จากการสำรวจบทเพลงฮิตกว่า 17,000 เพลง บนชาร์ตบิลบอร์ดระหว่างปี 1960-2010 โดยมหาวิทยาลัย Queen Mary และ Imperial College ของอังกฤษ พบว่าวงการดนตรีมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน 3 ยุค คือปี 1964 ที่วงดนตรีร็อกที่มีจุดเด่นด้านเสียงกีตาร์เริ่มได้รับความนิยมอย่างสูง, ปี 1983 ที่วงการเพลงป็อปหันมาสร้างเสียงสังเคราะห์จากซินธีไซเซอร์ และปี 1991 ที่เพลงฮิปฮอป และแร็ปเริ่มได้รับความนิยมไปทั่วโลก 
 
แต่ผลการสำรวจที่สร้างความแปลกใจ คือการระบุว่าเพลงจากปี 1991 มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงดนตรีโลกมากกว่าเพลงจากปี 1964 โดย แมชเทียช เมาท์ หัวหน้าทีมวิจัยชี้ว่า แม้ปี 1964 จะเป็นที่รู้จักจากกระแสบริติช อินเวชั่น ที่วงดนตรีจากอังกฤษไปประสบความสำเร็จอย่างงดงามในสหรัฐฯ แต่ดนตรีของพวกเขาเป็นเพียงการสานต่อแนวเพลงที่ศิลปินอเมริกันยุคก่อนสร้างสรรค์ไว้ให้โด่งดังยิ่งขึ้นเท่านั้น ขณะที่เอกลักษณ์ของดนตรีแร็ป ในยุคปี 1991 คือการให้ความสำคัญตกับเสียงร้องและจังหวะ โดยไม่เน้นการประสานเสียงเหมือนเพลงป็อปในอดีต ซึ่งถือเป็นปฏิวัติวงการเพลงอย่างแท้จริง 
 
ผลสำรวจยังหักล้างความเชื่อที่ว่าเพลงป็อปยุคปัจจุบันไร้ซึ่งความหลากหลาย โดยผลวิจัยระบุว่า ปี 1986 ถือเป็นปีที่วงการเพลงมีความหลากหลายน้อยที่สุด เมื่อศิลปินในยุคนั้นล้วนสร้างผลงานด้วยสูตรตายตัว ทั้งการใช้ซินธีไซเซอร์และกลองไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย รวมถึงกระแสนิยมการโซโลกีตาร์รวดเร็วและยาวนาน โดยกลุ่มศิลปินเมทัลหลายวงในยุคนั้น 
 
ผลการวิจัยดังกล่าวสร้างข้อถกเถียงในกลุ่มแฟนเพลงอย่างแพร่หลาย โดยมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดย ไมค์ บล็อคเคน อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Liverpool Hope University ที่เปิดสอนวิชาเกี่ยวกับวง The Beatles ในระดับปริญญาโท โต้แย้งว่าคุณค่าของดนตรีจากยุค 60 เช่นผลงานของสี่เต่าทอง มีความลึกซึ้งมากกว่าการวิเคราะห์แค่โครงสร้างทางดนตรีเพียงอย่างเดียว และชี้ว่าคุณค่าทางศิลปะไม่อาจตีความผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ 
 
แม้ผลการวิจัยจะได้รับการต่อต้านพอๆ กับการสนับสนุน แต่ทางทีมวิจัยก็หวังจะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ในการหายุคสมัยที่เป็นจุดเปลี่ยนของวงการศิลปะแขนงอื่นๆ ทั้งด้านวรรณกรรม และศิลปกรรมต่อไป 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง