อาคาร"พิชิตภัยสึนามิ" คว้ารางวัล "Pritzker Prize"

ศิลปะ-บันเทิง
18 มี.ค. 56
14:06
559
Logo Thai PBS
อาคาร"พิชิตภัยสึนามิ" คว้ารางวัล "Pritzker Prize"

ท่ามกลางความสูญเสียจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อ 2 ปีก่อน อาคารหลังหนึ่งเหลือรอด ส่งให้สถาปนิกเจ้าของผลงานคว้ารางวัล Pritzker Prize ด้วยแนวคิดการออกแบบอาคารที่คำนึงถึงการเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งแวดล้อม

ภาพที่บันทึกโดยผู้ประสบภัยที่หลบอยู่ในอาคาร Sendai Mediatheque ระหว่างเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 แสดงให้เป็นถึงการโยกตัวอย่างรุนแรงจนฝ้าร่วงหล่นจากเพดาน หากแต่โครงสร้างหลักของอาคารที่ออกแบบมาอย่างดี ส่งผลให้ตึกแห่งนี้เป็นอาคารขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวในจังหวัดมิยางิที่รอดพ้นจากภัยพิบัติเมื่อ 2 ปีก่อน คลิปดังกล่าวถูกส่งต่อเป็นไวรัลในญี่ปุ่น และสร้างชื่อให้กับ โทโย อิโตะ เจ้าของผลงาน และทำให้เขาได้รับรางวัล Pritzker Prize ประจำปี 2013 เกียรติยศที่เปรียบดังรางวัลโนเบลสำหรับวงการสถาปัตยกรรม
                     

<"">

Sendai Mediatheque เป็นอาคารเอนกประสงค์ที่เป็นทั้งห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ชุมชน ออกแบบตามแนวคิดให้อาคารเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม โปร่ง และประหยัดพลังงาน โดยใช้ท่อโครงสร้างทักถอ 13 ต้นแทนเสาสำหรับการรองรับชั้นอาคารทั้ง 7 ที่สร้างจากวัสดุน้ำหนักเบา แม้กรรมการของ Pritzker Prize จะยกย่องในความคิดสร้างสรรค์ แต่ชาวเซนไดกลับเคยไม่ชื่นชอบในความแหวกแนว กระทั่งแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2011 ได้ทำลายอาคารเกือบทุกหลังในจังหวัดมิยางิ เช่นเดียวกับโครงสร้างภายในของ Sendai Mediatheque แต่ท่อลักษณะคล้ายไซดักปลาที่ออกแบบมาเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นเวลาถึง 400 ปี ทำให้อาคารรอดพ้นจากการพังทลาย และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังและความอยู่รอดของชาวเมือง และส่งให้เขาคว้ารางวัลสิงโตทองคำในงาน Venice Architecture Biennale เมื่อปีที่แล้ว
      
<"">
<"">

ผลงานออกแบบของ โทโย อิโตะ ทั้งในญี่ปุ่น เอเชีย และยุโรป คำนึงถึงปฎิสัมพันธ์ต่อธรรมชาติ โดยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ เขาได้ก่อตั้งโครงการ Home-for-All เพื่อสร้างบ้านพักให้กับผู้ประสบภัย ที่ไม่เป็นเพียงที่หลบภัย แต่เป็นบ้านที่ให้บรรยากาศอบอุ่นช่วยปลอบประโลมผู้ที่สูญเสียบ้านอันเป็นที่รัก โดยเน้นออกแบบพื้นที่ส่วนรวมเพื่อให้ผู้อาศัยได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่ง อิโตะ วัย 71 ปียอมรับว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนั้นช่วยเตือนสติแวดวงสถาปัตยกรรมที่เคยเน้นออกแบบสิ่งก่อสร้างที่พยายามเอาชนะธรรมชาติ ไปสู่การสร้างสรรค์ที่อยู่อาศัยที่เคารพต่อพลังอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ เพื่อมนุษย์และธรรมชาติจะได้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง