ถอดบทเรียนปัญหา"ญี่ปุ่น"เปลี่ยนผ่านสู่ยุค"ทีวีดิจิตอล"

เศรษฐกิจ
30 มี.ค. 56
13:40
476
Logo Thai PBS
ถอดบทเรียนปัญหา"ญี่ปุ่น"เปลี่ยนผ่านสู่ยุค"ทีวีดิจิตอล"

ประเทศญี่ปุ่นมีชื่อเสียงอันดับต้นของโลก ด้านการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี และเพิ่งเปลี่ยนผ่านการแพร่ภาพโทรทัศน์ระบบดิจิตอลคลอบคลุมทั่วประเทศสำเร็จเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ขณะที่ประเทศไทย ยังอยู่ระหว่างเพิ่งเริ่มกระบวนการต่างๆ แต่กว่าญี่ปุุ่นจะเปลี่ยนผ่านสำเร็จ ก็ต้องใช้เวลานานถึง 8 ปี มีประชาชนต่อต้านในระยะแรก ทำให้ต้องต้ังหน่วยงานพิเศษขึ้นมาแก้ปัญหาโดยเฉพาะ

รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มวางแผนเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล ในปี 2541 โดยปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน อีก 5 ปีถัดมา เดือนธันวาคม ปี 2546 จึงนำร่องออกอากาศระบบดิจิตอลครั้งแรก ใน 3 เมืองใหญ่ คือ โตเกียว โอซาก้า และนาโกย่า และครอบคลุมทั่วประเทศ ในเดือนธันวาคมปี 2549

  
<"">

ระหว่างนั้น ระบบอนาล็อกที่รับชมกันปกติ ยังออกอากาศคู่ขนานไปด้วยต่อเนื่องอีก 8 ปี และยุติระบบอนาล็อกในเดือนกรกฎาคม 2554 ช่วงเริ่มต้นเปลี่ยนผ่านประชาชนไม่มีความพร้อม และต่อต้าน ทำให้รัฐบาลต้องจัดตั้ง "องค์กรเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล"ขึ้นมาโดยเฉพาะ มีตัวแทนสถานีโทรทัศน์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ สื่อมวลชน ร่วมสร้างความเข้าใจอย่างจริงจัง พร้อมส่งเจ้าหน้าที่สถานีโทรทัศน์พูดคุยด้านเทคนิคหากครัวเรือนใดประสบปัญหา และใช้มาตรการแจกคูปองส่วนลด เพื่อจูงใจให้คนซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่

นอกจากนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการอีก 3 ชุด เน้นประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่าน ชุดที่2 วางแผน,สำรวจตลาด และทำแบบสำรวจความเห็น เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับการรับรู้ของประชาชน และชุดสุดท้าย ลงพื้นที่สำรวจคลื่นสัญญาณ เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกครัวเรือนจะรับชมระบบดิจิตอลได้ทั่วถึงทั้ง 52 ล้านครัวเรือน หลังยุติอนาล็อกและ 1 เดือนสุดท้ายก่อนยุติอนาล็อกเป็นทางการ ทางสถานีโทรทัศน์จะขึ้นข้อความตัวใหญ่ ตอกย้ำให้คนรับรู้สม่ำเสมอ

                
<"">

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีมี 7 ช่อง เป็นของรัฐ 2 สถานี คือ ช่อง NHK มีจำนวน 2 ช่องรูปแบบการให้ใบอนุญาตเป็นแบบ"บิวตี้คอนเทนต์" หรือ พิจารณาตามศักยภาพของผู้ประกอบการ ต่างจากประเทศไทย ที่เป็นระบบสัมปทาน

ญี่ปุ่นยังพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้การรับชมโทรทัศน์มีภาพคมชัดสูงกว่าปัจจุบัน ที่ออกอากาศในระบบคมชัดสูงทุกสถานี โดยเดือนพฤษภาคมนี้ NHK จะออกอากาศด้วยเทคโนโลยี "Hybridcast " (ไฮบริด แคสต์) ซึ่งผสมกันระหว่างสัญญาณอินเทอร์เน็ตและกระจายเสียง เน้นผู้ชมกลุ่มที่มีเครื่องแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ซึ่งผู้ชมสามารถดูข้อมูลอื่นๆ ประกอบเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เพิ่มเติมได้

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยี 8 เค หรือ ซูเปอร์ไฮวิชั่น NHK การรับชมภาพเสมือนอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ เพื่อเตรียมออกอากาศอีก 3 ปีข้างหน้า ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล สิ่งสำคัญคือ การสร้างความเข้าใจจากฝ่ายเกี่ยวข้อง ให้ประชาชนรับรู้ และเข้าใจการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงความโปร่งใสในการดำเนินการ


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง