การคลังวุ่น “ปลดผู้ว่าการ” “ค่าเงินบาทแข็ง” ประธานบอร์ดชี้ อาจซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง

เศรษฐกิจ
3 พ.ค. 56
04:24
166
Logo Thai PBS
การคลังวุ่น “ปลดผู้ว่าการ” “ค่าเงินบาทแข็ง” ประธานบอร์ดชี้ อาจซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง

ความขัดแย้งเรื่องแนวทางแก้ปัญหาค่าเงินบาทของกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฎชัดขึ้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแสดงออกค่อนข้างชัดเจนถึงการดำเนินการในการปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ยังอ้างถึงอำนาจในการดำเนินการว่าไม่สามารถทำได้ ขณะที่ประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทยออกมายอมรับว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้ อาจนำประเทศไปถึงทางตันหากไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกวิธี แต่ปฏิเสธอำนาจในการปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

นอกเหนือจากประเด็นการแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่ถูกจับตามองมาโดยตลอดในระยะที่ผ่านมาเพราะค่าเงินแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ระบุว่า เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องดำเนินการ พร้อมมีการระบุถึงแนวทางลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้สถานการณ์วิกฤต แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีแนวทางใดๆ จากธนาคารแห่งประเทศไทย แต่มีกระแสข่าวว่า นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งแนวทางแก้ปัญหาให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว

ปัญหาค่าเงินบาทกลายเป็นปัญหาด้านการบริหารจัดการทันที เมื่อมีกระแสข่าวการปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยออกจากตำแหน่ง แม้ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะแบ่งรับแบ่งสู้ถึงกรณีนี้ แต่ก็ยอมรับว่าแนวทางในการแก้ปัญหาค่าเงินแตกต่างจากธนาคารแห่งประเทศไทย และได้ส่งหนังสือถึงประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย สอบถามถึงอำนาจในการปลดผู้ว่าการฯ

กรณีนี้ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงว่า อำนาจการปลดผู้ว่าการฯ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเท่านั้น พร้อมระบุถึงการแก้ปัญหาที่ไม่ได้เดินไปในทิศทางเดียวกันของทั้ง 2 ฝ่ายว่า เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ เพราะหากไม่มีความชัดเจน ประเทศไทยอาจเดินกลับเข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 อีกครั้ง

<"">
<"">

สำหรับกรณีนี้ นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถทำได้หลายแนวทาง โดยแนวทางหนึ่งคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใช้อำนาจในการเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาให้พ้นจากตำแหน่งได้ แต่ต้องมีการระบุเหตุผลชัดเจน ซึ่งใน พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดไว้ว่า หากจะปลดผู้ว่าการฯ มีเงื่อนไขว่า ผู้ดำรงตำแหน่งมีพฤติกรรมเสื่อมเสียร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่ บกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือ หย่อนความสามารถ ซึ่งจากข้อกำหนดนี้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ผู้ว่าการฯ บกพร่องในส่วนใด แต่หากจะอ้างเรื่องผลดำเนินการที่ขาดทุน ก็ไม่น่าจะสามารถทำได้ เพราะไม่ใช่ผู้รับผิดชอบเพียงลำพัง ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าจนกระทบต่อการส่งออก ก็ไม่น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอ เพราะการที่รัฐบาลออกพันธบัตรกู้เงินจำนวนมาก ก็มีส่วนในการแข็งค่าของเงินบาทเช่นกัน

ส่วนความไม่เห็นด้วยกรณีการลดอัตราดอกเบี้ยนั้น เห็นว่า เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ที่จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งผู้ว่าการฯ เป็นเพียงคณะกรรมการคนหนึ่งเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง