นักวิชาการแนะรัฐใช้พลังน้ำ เป็นพลังงานทางเลือกในพื้นที่ภาคใต้
กังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1.5 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง ในพื้นที่บ้านทะเลปัง อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เคยเปิดใช้งานมาตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค. 2553 แต่ปัจจุบันถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพชำรุดมากว่า 2 ปี ถูกชาวบ้านในพื้นที่เรียกร้องให้เข้าไปซ่อมแซมและเปิดให้ใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าทางเลือก หลังจากเมื่อ 2 วันก่อนพบปัญหาไฟดับทั่วภาคใต้
ส่วนที่จังหวัดกระบี่ ปัญหาไฟฟ้าที่ดับขึ้นเมื่อง 2 วันก่อน (21 พ.ค.2556) สร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้าน และทำให้พันตรีอนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม โครงการวิชาการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เร่งเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งมีกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ที่ อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ โดยขณะนี้กำลังสำรวจเส้นทางลำเลียงถ่านหิน เป็นเส้นทางใหม่ จากเดิมที่ใช้ท่าเทียบเรือบ้านแหลมกรวด ตำบลคลองขนาน แต่ถูกชาวบ้านคัดค้าน จึงเปลี่ยนมาใช้ท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ตำบลตลิ่งชันแทน คาดว่าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะเสร็จสิ้นในเดือน มิ.ย.2556
เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2556เกือบทุกพื้นที่ทางภาคใต้ได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟดับ แต่ที่ชุมชนบ้านคลองเรือ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ไม่ได้รับผลกระทบเพราะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานน้ำ ซึ่งเรื่องนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิตติ มงคลชัยอรัญญา หัวหน้าโครงการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นว่า หลายพื้นที่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไฟฟ้าควรนำเรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาตัวอย่าง ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าในพื้นที่ภาคใต้มีน้ำตกที่มีศักยภาพสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 203 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมกัน ประมาณ 160 เมกะวัตต์
แท็กที่เกี่ยวข้อง: