คณะศิลปินไทยกว่า 40 ชีวิต กับบทเพลงทูตสานสัมพันธ์ไทย-จีน เมื่อ 65 ปีก่อน

Logo Thai PBS
คณะศิลปินไทยกว่า 40 ชีวิต กับบทเพลงทูตสานสัมพันธ์ไทย-จีน เมื่อ 65 ปีก่อน

หาก ย้อนไปเมื่อ56 ปีก่อน การเดินทางไปถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน ของคณะศิลปินไทยกว่า 40 ชีวิต ไม่เพียงนำบทเพลงดนตรี และนาฏศิลป์ไทย ไปสร้างความสุข แต่ยังเป็นการสานสัมพันธ์ทางการทูตอย่างไม่เป็นทางการ แต่มิตรภาพที่เบ่งบาน ท่ามกลางความขัดแย้งของสงครามเย็นต่างขั้วอำนาจ ทำให้ศิลปินกลุ่มนี้ถูกจับกุมในข้อหา"คอมมิวนิสต์"

"เพลงมนตร์รักนวลจันทร์" จากปลายปากกาของสองครูเพลง สง่า อารัมภีร และเอื้อ สุนทรสนาน ต้องใช้เสียงสูง และโชว์ทักษะการร้องไม่น้อย ไม่เพียงเคยขับขานในโรงละครศรีอยุธยาเมื่อ 60 ปีก่อน แต่ยังเป็นบทเพลงสำคัญที่ใช้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทย และสาธารณประชาชนจีน ที่สุเทพ วงศ์กำแหง หนึ่งในคณะผู้แทนศิลปินไทยเลือกไปขับร้อง โดยมี สุวัฒน์ วรดิลก เป็นหัวหน้าคณะ และมีเพื่อนศิลปินนักแสดงถึง 48 คน เช่น เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, สุพรรณ บูรณพิมพ์, และบุญยง เกตุคง มือระนาดเทวดา ร่วมเดินทาง

เหมือนไข่มุกต์เมื่อหล่นบนจานหยก วณิพกพ่ายสิ้นเพียงยินเสียง มธุรสโอษฐ์ฉะอ้อนประอรเอียง ดาลเผดียงดาเรศเนตรอนงค์ บทกลอนบางส่วนที่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ จรดปากกาเขียนขึ้นมาจากแรงบันดาลใจ ครั้งได้ฟังเสียงระนาดเอกรสมือ ครูบุญยงค์ เกตุคง มือระนาดเทวดา หนึ่งในคณะศิลปวัฒนธรรมไทย ที่ไปร่วมแสดงที่กรุงปักกิ่งด้วย คำชมจากปากโจว เอน ไหล นายกรัฐมนตรีของจีนในเวลานั้นยังส่งให้ดนตรีไทยโด่งดังไปทั่วเอเชีย

การ เดินทางกลับในช่วงที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ามาเป็นรัฐบาล และยึดนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้ศิลปินกลุ่มนี้ถูกจับกุม โดยเฉพาะคู่ชีวิต เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ที่สามี สุวัฒน์ วรดิลก ถูกคุมขังเป็นเวลาถึง 4 ปี เป็นที่มาของเพลงเศร้า "หนามชีวิต" ที่ครูชาลี อินทรวิจิตร ประพันธ์ให้ เพ็ญศรี ขับร้องจนเป็นบทเพลงประจำตัว

บทเพลงเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนหน้าประวัติศาสตร์ทางการทูต ที่มีเสียงเพลงเป็นสื่อ แต่ความสามาถของศิลปินไทยยังเป็นที่ยอมรับ และถูกโจษขานไม่แพ้กันบนหน้าประวัติศาสตร์การดนตรี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง