นักวิชาการชี้ “ไข่ไก่” มักถูกใช้เป็นเครื่องมือตอบโต้ทางการเมือง

29 พ.ค. 56
15:48
196
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ “ไข่ไก่” มักถูกใช้เป็นเครื่องมือตอบโต้ทางการเมือง

ราคาไข่ไก่ มักถูกใช้เป็นเครื่องมือตอบโต้ ทางการเมืองอยู่เสมอ ซึ่งนักวิชาการบางราย เห็นว่า รัฐบาลควรหยุดนโยบายแทรกแซงราคา เพื่อหวังผลทางการเมือง เพราะจะเป็นการบิดเบือนตลาด และเกษตรกรไม่สามารถวางแผนการผลิตในระยะยาวได้ ทำให้เสี่ยงต่อการขาดทุนจนถึงขั้นปิดกิจการ

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ รายการตอบโจทย์คืนนี้ จะพูดคุยกับคุณมาโนช ชูทับทิม จากสมาคมผู้เลี้ยงไข่ไก่ และ รองศาสตราจารย์ ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะมาร่วมแสดงความเห็นเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ปัญหาไข่ไก่แพง มักถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมือง ทุกยุคทุกสมัย แม้เมื่อดูในเชิงมูลค่าแล้ว การปรับราคาไข่ไก่ในแต่ละครั้งจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับราคาสินค้าอื่นๆ รศ.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ หัวหน้าภาควิชาสัตวบาล ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่า ไข่ไก่ถือเป็นสินค้าที่คนไทยต้องบริโภคเป็นประจำ เช่นเดียวกับข้าว ดังนั้นเมื่อปรับราคาแม้เพียงเล็กน้อยผู้บริโภคก็จะรู้สึกได้ทันที ไข่ไก่จึงเป็น 1 ในสินค้าการเมือง ที่ัรัฐมักแทรกแซงราคา

รศ.ชัยภูมิ ระบุว่าการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร เป็นความพยายามรักษาคะแนนนิยมของภาครัฐ โดยสินค้าเกษตรพืชไร่ พืชสวน เช่นข้าว มันสำปะหลัง จะได้รับการประกันราคาขั้นต่ำเพื่อรักษาฐานเสียงเกษตรกร ขณะที่สินค้ากลุ่มปศุสัตว์ เช่น ไข่ไก่ เนื้อไก่ และเนื้อหมู จะถูกควบคุมราคาเพดาน ซึ่งส่วนนี้เป็นการเลือกดูแลผู้บริโภคเพียงด้านเดียว กลุ่มผู้เลี้ยงชี้แจงว่า กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ขายไข่ไก่ต่ำกว่าต้นทุนมาตลอด โดยปีที่ 2555 ต้นทุนไข่ไก่เฉลี่ยฟองละ 2 บาท 58 สตางค์ ขณะที่ราคาขายเฉลี่ย เพียงฟองละ 2 บาท 33 สตางค์ และเพิ่งเริ่มขายได้มากกว่าต้นทุน เมื่อต้นปี 2556 นี้ เพราะปริมาณผลผลิตในตลาดลดน้อยลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อน ซึ่งเป็นวัฎจักรปกติที่เกิดขึ้นทุกปี

สำหรับอำนาจการกำหนดราคาไข่ไก่นั้น เป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ตัวเลขต้นทุนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. ที่คำนวณจากไข่ไก่น้ำหนัก 20 กิโลครึ่งต่อไข่ไก่ 300 ฟอง บวกค่าต้นทุนอาหารสัตว์ ค่าแรง และค่าบริหารจัดการอื่นๆ ก่อนกระทรวงพาณิชย์จะนำไปกำหนดราคาไข่คละหน้า ฟาร์ม ขายส่ง และขายปลีก

เครือข่ายผู้เลี้ยงระบุว่าไข่ไก่จะมีน้ำหนักได้ตามมาตรฐานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 31 สัปดาห์จึงจะขายได้ราคาตามประกาศ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ 19-30 เกษตรมักจะขายไข่ได้ได้ต่ำกว่าราคาประกาศมาตรฐาน ซึ่งการปรับราคาครั้งนี้เป็นไปตามต้นทุนและภาวะผลผลิต จึงไม่อยากให้นำราคาไข่ไก่มาเป็นประเด็นทางการเมือง และแทรกแซงราคา เพราะนอกจากจะบิดเบือนกลไกตลาดแล้วยังทำให้เกษตรกรรายย่อยต้องขาดทุนสะสมซึ่งจะส่งผลให้ต้องปิดกิจการลงในท้ายที่สุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง