คาด"บีอาร์เอ็น"ปฏิเสธเกี่ยวข้องเหตุยิง 6 ศพ จ.ปัตตานี หวังทำสงครามจิตวิทยาชิง"มวลชน"

30 พ.ค. 56
14:35
43
Logo Thai PBS
คาด"บีอาร์เอ็น"ปฏิเสธเกี่ยวข้องเหตุยิง 6 ศพ จ.ปัตตานี  หวังทำสงครามจิตวิทยาชิง"มวลชน"

รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ระบุว่า การพูดคุยสันภาพครั้งที่ 3 มีกรอบการพูดคุย 5 ข้อ โดยเน้นอำนวยความยุติธรรมเป็นหลักและดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญ ขณะที่ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เห็นว่า การที่กลุ่มบีอาร์เอ็น แถลงปฎิเสธเกี่ยวข้องเหตุยิงชาวบ้านในจังหวัดปัตตานี เสียชีวิต 6 คน นั้น เป็นการทำสงครามจิตวิทยาเพื่อช่วงชิงมวลชน

นายเทียบ เสาวคนธ์ ในวัยเกือบ 80 ปี สำรวจบ้านเช่าในตำบลรูสมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีร่องรอยความเสียหายจากอาวุธสงคราม ด้วยจิตใจหดหู่ หลังผู้เช่ารายเดิม ตัดสินใจย้ายออกนอกพื้นที่ หลังต้นเดือนที่ผ่านมา เกิดเหตุกราดยิง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 6 คน

 
ขณะที่กลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนท ออกแถลงการณ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบวางระเบิดรถยนต์คณะนายอิศรา ทองธวัส รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาเมื่อต้นเดือนเมษายน รวมถึงเหตุการณ์กราดยิงชาวบ้านเสียชีวิต 6 คน ที่จังหวัดปัตตานี เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่าก่อนหน้านี้ ฝ่ายความมั่นคงจะระบุว่า อาวุธปืนสงครามที่ใช้กราดยิงชาวบ้าน เคยใช้ก่อเหตุรุนแรงมาแล้วหลายคดี
 
นายประสิทธิ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ มองว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการต่อสู้ ทั้งทางการทหารและทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ก่อความไม่สงบ มักเป็นผู้กำหนดรูปแบบ และวิธีการต่อสู้ ทำให้อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบภาครัฐมาโดยตลอด ซึ่งการออกมาแถลงการณ์ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ก็เป็นรูปแบบหนึ่งในการทำสงครามจิตวิทยาเพื่อช่วงชิงมวลชน โดยเฉพาะในห้วงที่มีการพูดคุยสันติภาพ
<"">
 
<"">
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างความสูญเสียให้กับเฉพาะนักรบที่เป็นกองกำลังของรัฐและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเท่านั้นแต่ผลกระทบยังเกิดขึ้นกับผู้บริสุทธิ์เป็นวงกว้างโดยเฉพาะเด็กและสตรีจึงมีเสียงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้อาวุธในที่สาธารณะเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อผู้บริสุทธิ์ ในขณะเดียวกันทุกฝ่ายก็ต้องรักษากระบวนการพูดคุยเอาไว้เพื่อเป็นช่องทางไปสู่สันติภาพ
 
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีได้ประชุมคณะทำงานการพูดคุยสันติภาพ โดยระบุว่าการพูดคุยเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ มีกรอบการพูดคุย 5 ข้อ โดยเน้นอำนวยความยุติธรรมเป็นหลัก และดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญ และหลักสิทธิมนุษยนชน พร้อมย้ำว่าการพูดคุยถือเป็นความหวังสุดท้ายในการสร้างความสงบ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลมาเลเซียจะสนับสนุนอย่างเต็มที่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง