เรียกร้องผ่านเสียงดนตรี ในบทเพลงประท้วง

ศิลปะ-บันเทิง
14 มิ.ย. 56
15:09
204
Logo Thai PBS
เรียกร้องผ่านเสียงดนตรี ในบทเพลงประท้วง

การประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำหรือ G8 ที่จะมีขึ้นที่ไอร์แลนด์เหนือสัปดาห์หน้านี้ กำลังเป็นที่จับตาของคนทั้งโลก รวมถึงในวงการเพลง เมื่อมีศิลปินร่วมกันนำเพลงแห่งการประท้วงมาบรรเลงอีกครั้ง เพื่อใช้บทเพลงเป็นสื่อเรียกร้องผู้นำชาติมหาอำนาจใส่ใจเพื่อนร่วมโลกมากขึ้น

Livin' on the Edge เพลงดังปี 1993 ของ Aerosmith ที่ประพันธ์ขึ้นจากเหตุจลาจลครั้งใหญ่ในลอส แองเจลิส ตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมในสังคมที่คงเต็มไปด้วยการเลือกปฎิบัติและการเหยีอดเชื้อชาติ คือหนึ่งในหลายบทเพลงเพื่อการประท้วง ที่ใช้ในกิจกรรมagit8 เมื่อศิลปินเพลงกว่า 50 ชีวิตได้จับมือกันนำเพลงที่เรียกร้องความเป็นธรรมแก่สังคม มาเผยแพร่ทางยูทูบตลอดทั้งสัปดาห์ เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำของชาติ G8 เห็นถึงความสำคัญของการกำจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในทุกรูปแบบ

เนื้อหาในบทเพลงมีทั้งประเด็นต่อสู้กับความยากจน ในเพลง working class hero ที่ ดาบี้ ตัวเร่ นักร้องชาวเซเนกัล นำผลงานคลาสสิกของ จอห์น เลนน่อน มาร้องเพื่อต่อต้านความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น บทเพลงเรียกร้องสิทธิประชาชนใน Flesh Shapes the Day ของ ทอม โมเรลโล และ 99 Revolutions ของวงGreen Day ที่โจมตีความล้มเหลวของระบบธนาคารในสหรัฐฯ ซึ่งจุดกระแสการประท้วงOccupy Wallstreet, เพลงต่อต้านสงครามโดย เอ็ด ชีแรน ที่นำ Masters of Warเพลงต่อต้านสงครามเย็นของ บ็อบ ดีแลน มาร้องใหม่ รวมถึง เพลง The Ghost of Tom Joad งานเก่าของ บรูซ สปริงสทีน ที่ เอสวิส คอสเตลโล และวง Mumford & Sons นำมาบรรเลงใหม่ ซึ่งเนื้อหาเล่าถึงชีวิตของผู้ต่อสู้กับระบบสังคมอันอยุติธรรม เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นคน

agit8 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ The ONE Campaign ก่อตั้งโดย โบโน นักร้องนำของวง U2 เพื่อต่อสู้กับสงครามความยากจนในทวีปแอฟริกา ล่าสุดมีการนำบทเพลงประท้วงของศิลปินชื่อดังไปเปิดการแสดงหน้าพิพิธภัณฑ์ Tate Modern ในกรุงลอนดอน เพื่อกดดันผู้นำชาติ G8 ให้เพิ่มการช่วยเหลือด้านอาหารไปยังทวีปแอฟริกา และทำให้เกิดความมั่นใจว่าเงินช่วยเหลือจะไปถึงมือผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง

แม้ ปัจจุบันผู้อดอยากทั่วโลกจะลดลงจาก 20 ปีที่แล้ว จากร้อยละ 43 เหลือร้อยละ 21 แต่ทุกวันนี้มีเด็กที่ต้องเสียชีวิตจากความอดอยากวันละกว่า 2 หมื่นราย ซึ่งการจะทำให้ความอดอยากหมดไปจากโลกภายในปี 2030 จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดย โบโน ยกคำกล่าวของ เนลสัน แมนเดลล่า ที่เคยมองว่า ความอดอยากไม่ต่างจากความเป็นทาส เพราะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อกัน ซึ่งเขาเห็นว่าศิลปินควรใช้ศิลปะต่อสู้กับความไม่เท่าเทียม ซึ่งโครงการนี้แสดงให้เห็นว่ามีนักดนตรีมากมายเลือกใช้บทเพลงเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมอยู่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง