อดีต ส.ส.ร.วิเคราะห์ปมแก้ไขรัฐธรรมนูญกรณีที่มา"ส.ว."

20 ส.ค. 56
14:24
74
Logo Thai PBS
อดีต ส.ส.ร.วิเคราะห์ปมแก้ไขรัฐธรรมนูญกรณีที่มา"ส.ว."

ศ.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตและในฐานะอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และนายเดโช สวนานนท์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กล่าวยอมรับในหลักการของการแก้รัฐธรรมนูญ ว่าด้วยเรื่องที่มาของ ส.ว.จากการเลือกตั้ง ว่าชอบด้วยอำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทย แต่หลักปฏิบัติจะชอบด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ยังคงมีหลายปัจจัยให้ต้องพิจารณาควบคู่กันไปด้วย

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ที่รัฐสภากำลังพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระที่ 2 และ 3 อยู่นี้ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวม 10 มาตราด้วยกัน ซึ่งสาระสำคัญคือการกำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งจากเขตจังหวัด รวม 200 คน โดยไม่จำกัดสิทธิ์เครือญาติทางการเมืองที่จะลงสมัคร และไม่ต้องเว้นวรรคทางการเมือง ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งตามร่างแก้ไขฉบับนี้
  

<"">
 
<"">

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ว่าด้วยเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. โดยเนื้อหาบัญญัติไว้ 13 มาตราที่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อให้เป็นไปตามหลักการและเหตุผล ที่รัฐสภายอมรับตรงกันในวาระที่ 1 คือ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งมาตรา 3 กำหนดให้ ส.ว.ทั้งหมดมี 200 คน และกำหนดให้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง,ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงได้

มาตรา 5 กำหนดคุณสมบัติไว้ชัดเจน ทั้งสัญชาติ,อายุและการศึกษา รวมถึงยังคงห้ามสังกัดพรรคการเมือง แต่กลับเปิดโอกาสเครือญาติทางการเมืองลงสมัครได้ ทั้งบุพการี คู่สมรสและบุตร พร้อมกันนั้นยังไม่มีเงื่อนไขของการเว้นวรรคทางการเมือง แม้แต่การเป็น ส.ว.ก็ตาม หากแต่ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นลงสมัคร ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองระดับชาติ หรือท้องถิ่น
                   
<"">

อดีต ส.ส.ร. ปี 2550 นายเดโช สวนานนท์ กล่าวยืนยันว่า หลักการแก้ที่มาของ ส.ว.ครั้งนี้นำไปสู่ความชอบธรรมแล้ว โดยเฉพาะการตัดความเดิมของรัฐธรรมนูญที่จำกัดสิทธิ์เครือญาติทางการเมือง การเว้นวรรคทางการเมือง และการห้ามสังกัดพรรคการเมือง แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีเบื้องหลังที่ว่าด้วยประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการสืบทอดอำนาจจากเหตุยึดอำนาจรัฐประหาร,การสร้างฐานเสียงทางการเมือง,การลดเงื่อนไขของสภาล่างและสภาบน แม้จะเป็นแค่จิตนาการทางการเมืองก็ตาม
                    
<"">

ขณะที่ ศาสตราจารย์ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต และในฐานะอดีต ส.ส.ร. ปี 2540 ระบุว่า แม้การเลือกตั้งจะชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่สามารถไว้วางใจได้ ว่าการเลือกตั้งจะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธความชอบธรรมในการเลือกตั้งได้ เพราะถือเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย แต่ก็คงต้องถามถึงหลักประกันว่า ส.ว.ที่ได้มานั้นจะไม่ต่างจาก ส.ส.,จะไม่ใช้เงินซื้อเสียง,จะไม่สังกัดพรรคการเมืองอย่างไม่เป็นทางการ จึงเป็นที่มาของข้อเสนอ ว่าควรมาจากการเลือกตั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนการกำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ต้องพึงคำนึงถึงการขัดกันแห่งผลประโยชน์ด้วย

การแก้และการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ใน 10 มาตราของรัฐสภาครั้งนี้ สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ขาดว่า เสียงข้างมากในรัฐสภาหรือ เสียงข้างมากจากพรรคร่วมรัฐบาลในฝ่ายนิติบัญญัติ มีเจตนาของการสร้างฐานเสียงทางการเมือง ขณะที่ ส.ว.กลุ่มหนึ่ง เชื่อว่า เจตนาอยู่ที่กำจัด ส.ว.กลุ่ม 40 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกมองมาโดยตลอดว่า เป็น ส.ว.กลุ่มค้านพรรคเพื่อไทย กลุ่มที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง