เครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องตั้งกรรมการอิสระสอบเหตุน้ำมันรั่ว

สังคม
22 ส.ค. 56
04:25
103
Logo Thai PBS
เครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องตั้งกรรมการอิสระสอบเหตุน้ำมันรั่ว

เครือข่ายภาคประชาชนเตรียมยื่น 30,000 รายชื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาข้อเรียกร้องให้มีการตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบสาเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล จ.ระยอง โดยมีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสในการตรวจสอบที่อาจมีเรื่องผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง

เครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)  หรือ พีทีที จีซี รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่ จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา เปิดเวทีสาธารณะ "คำถามที่ ปตท.ต้องตอบ…ก่อนที่ความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน" โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันรั่ว และนักวิชาการได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาบริษัท พีทีที จีซี และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จะอ้างว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามมาตรฐานแล้ว แต่ภาคประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในข้อมูล และการดำเนินงานที่ผ่านมา เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบ ทั้งที่ตั้งขึ้นโดยบริษัท พีทีที จีซี คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน หรือ กปน. และหน่วยงานรัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่มีองค์ประกอบของผู้เชี่ยวชาญอิสระจากภาคประชาชน และยังไม่มีการเปิดเผยกระบวนการ และรายงานการตรวจสอบต่อสาธารณะ

สำหรับสิ่งที่ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน และนักวิชาการตั้งข้อสังเกต คือความไม่ชอบมาพากล ถึงผลประโยชน์แอบแฝงระหว่างกลุ่ม ปตท. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐบาล โดยเฉพาะการที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เชิญคุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ โดยอ้างว่ามีความเป็นกลาง ทั้งที่คุณหญิงทองทิพ มีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับกลุ่ม ปตท. เพราะโดยตำแหน่งคุณหญิงทองทิพ คือ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันวิทยาการพลังงาน ไม่นับรวมกับสายสัมพันธ์อันแนบแน่นด้านธุรกิจน้ำมัน

นอกจากนี้ กลุ่มนักอนุรักษ์ นักวิชาการ และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนยังตั้งข้อสังเกตกรณีเหตุท่อส่งน้ำมันรั่วไหลในหลายประเด็น เช่น ความเชื่อมโยง และความสัมพันธ์ระหว่าง กลุ่ม ปตท. กับ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่อาจมีผลประโยชน์ร่วมกันจนทำให้ออกมาปกป้องกลุ่ม ปตท. แทนที่จะเรียกร้องให้กลุ่ม ปตท.แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่าการออกมาเรียกร้องค่าเสียหายให้กับประชาชนอาจทำได้ไม่เต็มที่ เพราะข้าราชการระดับสูงหลายคนมีตำแหน่งในคณะกรรมการ ปตท. หรือมีหุ้นในกลุ่ม ปตท. และบริษัทลูก ซึ่งอาจมีผลได้เสียต่อกรณีการเรียกร้องดังกล่าว

หลังจากนี้ กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว จะได้ดำเนินการยื่นข้อเรียกร้อง พร้อมรายชื่อผู้สนับสนุนต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้มีการตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบ โดยต้องมีโครงสร้างเป็นคณะกรรมการอิสระระดับชาติ มีหน้าที่หลัก คือตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาน้ำมันรั่วไหล ตรวจสอบผลกระทบ และความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม เสนอหลักการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายต่อรัฐบาล และจัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย โครงสร้าง และกลไกที่เกี่ยวข้องกับการรับมือสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง