ปัญหากทม.รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ

29 ก.ย. 56
14:23
4,855
Logo Thai PBS
ปัญหากทม.รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ

กว่า 20 ปีมาแล้ว ที่กรุงเทพมหานครมีความพยายาม นำพื้นที่กว่า 4 ไร่เศษ บริเวณริมคลองโอ่งอ่าง หลังกำแพงเมืองเก่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ จนนำไปสู่ความขัดแย้งกับชาวชุมชน แม้ล่าสุดสำนักการโยธา กทม.จะสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง แต่ชาวชุมชนยังยืนยันจะไม่ไปไหน และขอโอกาสมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 คณะทัวร์ทั้งชาวไทยและต่างชาติจะแวะเวียนมาเยี่ยมชม ชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นชุมชนหลังกำแพงเมืองเก่าในเขตพระนคร เพื่อศึกษาวิถีชีวิต อาชีพ ภูมิปัญญาที่มีความหลากหลาย หากนึกถึงพลุดอกไม้ไฟ ที่นี่ถือเป็นแหล่งขายส่งอันดับต้นๆ ในกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับการทำกรงนกเขา กรงนกปรอทหัวจุก ช่วยสร้างอาชีพ และเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

 
นักท่องเที่ยวจะได้เห็นการเลี้ยงไก่ชนพันธุ์ไทยดั้งเดิม ซึ่งชาวชุมชนพร้อมให้ข้อมูลการเลี้ยงแก่ผู้ที่สนใจ ขณะเดียวกันยังได้เรียนรู้การสืบทอดองค์ความรู้ด้านงานศิลปะ เช่น การปั้นเศียรพ่อแก่ ปั้นรูปฤาษีดัดตน ที่ถ่ายทอดไปยังเยาวชน
 
การจัดการชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสังคม ศิลปะ วัฒนธรรม เปรียบได้กับพิพิธภัณฑ์มีชีวิต และการดูแลรักษาสภาพชุมชนให้เป็นระเบียบ เรียบร้อย เป็นการดำเนินงานเชิงรูปธรรม ที่ชุมชนชี้ให้เห็นถึงการสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ หลังกทม.มีความพยายามเวนคืน ไล่รื้อที่ดินบริเวณนี้มาตั้งแต่ปี 2535 เพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ
 
จดหมายจากกองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กทม. ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2556 แจ้งให้ชาวชุมชนขนย้ายทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน และแม้วันนี้ถือว่าครบกำหนดตามที่ระบุในจดหมาย แต่ชาวชุมชน ยืนยันจะไม่ไปไหน เนื่องจากความขัดแย้งตลอด 20 ปี ชาวชุมชนไม่เคยได้รับความชัดเจนถึงการแก้ปัญหาจาก กทม.
 
กระบวนการมีส่วนร่วม คือทางออกที่ชาวชุมชนเรียกร้อง และทำข้อตกลงร่วมกันกับกทม.เพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนป้อมหากาฬในปี 2548 สมัยที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่จนถึงวันนี้กรุงเทพมหานคร ยังไม่ทำตามสัญญา ทั้งๆที่ชุมชนช่วยกันบริหารจัดการตัวเอง จนเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับ กทม.มาตลอด
 
ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ ย้ำจุดเดิมของชุมชนป้อมมหากาฬ ที่ขอโอกาสมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นสิ่งที่ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ เชื่อว่าสร้างมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง โดยอาศัยสิทธิพึงมีของชาวชุมชน แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาที่มาพร้อมสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ อาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง