เปิดข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวปี 55 พบขาดทุนกว่า 1.3 แสนล้านบาท

เศรษฐกิจ
30 ก.ย. 56
04:07
62
Logo Thai PBS
เปิดข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวปี 55 พบขาดทุนกว่า 1.3 แสนล้านบาท

ประธานอนุกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าว ระบุว่า ข้อมูลล่าสุดจากการสรุปเมื่อ 31 ม.ค.56 มีผลขาดทุนแล้วกว่า 136,000 ล้านบาท ส่วนจะขาดทุนเพิ่มเท่าไรนั้น ยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้ชัดเจน

มีข้อมูลระบุว่า องค์การคลังสินค้า หรือ อคส. และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อ.ต.ก. ได้ส่งข้อมูลจำนำข้าวให้กับคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวปี 54/55 ที่มีการรับจำนำถึง 31 พ.ค.56 แล้ว จากที่ปิดบัญชีก่อนหน้านี้ถึง 31 ม.ค.56

น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยว่า ข้อมูลล่าสุดจากการสรุปเมื่อ 31 ม.ค.56 มีผลขาดทุน 136,000 ล้านบาท ส่วนจะขาดทุนเพิ่มเท่าไรนั้น ยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้ชัดเจน แต่คาดว่าจะใกล้เคียงกับข้อมูลของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประมาณการไว้ ส่วนบัญชีการรับจำนำข้าวของปี 55/56 ยังต้องรอพิจารณาข้อมูลที่ได้รับจาก อ.ต.ก. และ อคส. ก่อน

ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร ออกมาระบุว่า การปิดบัญชีอนุกรรมการฯ ที่ปีแรกขาดทุน 130,000 ล้านบาท และการประเมินผลขาดทุนของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ว่าขาดทุน 200,000 ล้านบาท ถือว่าถูกต้องทั้งคู่ เพราะทั้ง 2 หน่วยงานใช้สมมติฐานต่างกัน

โดยอนุกรรมการปิดบัญชีนำราคา ณ วันปิดบัญชีไปคิดมูลค่าข้าวที่เหลือว่าจะขายได้เท่าใด ทำให้ผลขาดทุนออกมาน้อย ส่วนของมูดี้ส์คำนวณแล้วว่า รัฐบาลจะขายทั้งหมดภายใน 4 ปี ทำให้ผลขาดทุนออกมามากกว่า เพราะข้าวจะมีการเสื่อมทำให้มูลค่าลดลง 10 % ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่า ในอดีตหากรัฐบาลรับจำนำข้าวเกินปีละ 5,000,000 ตัน ต้องใช้เวลาการระบายข้าวถึง 4 ปี แต่รัฐบาลปัจจุบันรับจำนำข้าวถึงปีละ 21,000,000 ตัน ทำให้การระบายข้าวต้องใช้เวลาประมาณ 6 ปี จะทำให้มีผลขาดทุนเพิ่มปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท และหากรัฐบาลดำเนินการไม่หยุดจะทำให้หนี้สาธารณะเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ร้อยละ 60 ของจีดีพี ทำให้สถาบันความน่าเชื่อถือลดเครดิตของประเทศไทยได้ในที่สุด

ส่วนการเปิดรับจำนำข้าวรอบใหม่ ปี 56/57 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค.นี้ นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มีโรงสีเข้าร่วมโครงการกว่า 800 แห่ง มีการจำกัดวงเงินไว้ที่รายละ 350,000 บาท ทำให้ปริมาณข้าวลดลง ซึ่งปีนี้ (56) ได้เพิ่มเข้มความเข้มงวดไม่ให้มีการสวมสิทธิ์ โดยนำระบบไอทีมาใช้ติดตามข้อมูล และเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบความโปร่งใส ของโครงการรับจำนำทั้งหมด 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง