ปรัชญาดนตรีของ "วลาดิเมียร์ โฮโรวิทซ์" ยอดนักเปียโนแห่งศตวรรษ

Logo Thai PBS
ปรัชญาดนตรีของ "วลาดิเมียร์ โฮโรวิทซ์" ยอดนักเปียโนแห่งศตวรรษ

1 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นวาระครบรอบ 110 ปีชาตกาลของ วลาดิเมียร์ โฮโรวิทซ์ นักเปียโนที่ได้รับการยกย่องว่ามีเทคนิคการเล่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดของศตวรรษที่ 20 ซึ่งทั้งหมดมาจากการบรรเลงอันเป็นเอกลักษณ์ และการตีความบทเพลงที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของบทประพันธ์เป็นหลัก

ความยากของบทเพลง Piano Concerto No. 3 ผลงานของ เซอร์เกย์ แร็คมานินอฟ คีตกวีชาวรัสเซีย ถึงขนาดทำให้ผู้บรรเลงป่วยด้วยอาการทางจิต ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Shine ย้ำถึงบทเพลงที่แม้ไพเราะก็เต็มไปด้วยความซับซ้อน แต่เพลงเดียวกันนี้ วลาดิเมียร์ โฮโรวิทซ์ ยอดนักเปียโนเชื้อสายยูเครนนำมาบรรเลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้การแสดงครั้งนั้นเขาจะมีอายุกว่า 75 ปีแล้ว แต่เทคนิคเฉพาะตัวที่ทำให้เพลงยากๆ สามารถบรรเลงออกมาอย่างง่ายดายยังคงปรากฏชัดในการแสดง ซึ่งแม้แต่แร็คมานินอฟเจ้าของบทประพันธ์ ก็ยอมรับว่ามีความสมบูรณ์แบบกว่าการแสดงของเขาเสียอีก 
 
สิ่งที่ทำให้โฮโรวิทซ์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักเปียโนที่เยี่ยมที่สุดของศตวรรษที่ 20 มาจากเทคนิคการวางนิ้วเฉพาะตัว ที่ทำให้การบรรเลงของเขารวดเร็ว และยังคงไว้ซึ่งความแม่นยำ เอกลักษณ์ในสำเนียงของเขาทำให้เพลงที่บรรเลงเป็นที่ยอมรับในหมู่แฟนเพลง และทำให้อีกหลายเพลงที่ผู้ฟังหลงลืมกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง 
 
โฮโรวิทซ์เป็นหนึ่งในศิลปินจากโซเวียตที่หนีจากระบอบคอมมิวนิสต์มาอาศัยในสหรัฐฯ แต่เส้นทางนักดนตรีอันรุ่งโรจน์ของเขาต้องสะดุดเพราะอาการตื่นเวที ทำให้ต้องยกเลิกการแสดงในที่สาธารณะถึง 12 ปี กระทั่งคืนกลับเวทีในการแสดงที่คาเนกี้ ฮอลล์ ที่นิวยอร์กเมื่อปี 1968 และได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างสูง บัตรถูกจำหน่ายอย่างรวดเร็ว และมีแฟนเพลงต่อคิวก่อนการแสดงหลายสิบชั่วโมง 
 
แนวคิดของโฮโรวิทซ์มีความคล้ายคลึงกับโชแปงที่มองว่าการที่จะบรรเลงเปียโนให้งดงาม ผู้บรรเลงต้องสร้างโทนเสียงที่หลากหลาย แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่ได้ถูกเขียนเอาไว้ในโน้ตเพลง เพราะโน้ตเพลงไม่ใช่คัมภีร์ไบเบิล ทุกครั้งที่นั่งลงหน้าเปียโน สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาใช้เป็นเครื่องมือในการตีความบทเพลง คือความรู้สึกที่มีต่อบทประพันธ์นั้นๆ ซึ่งกลายเป็นที่มาของการบรรเลงที่จับใจผู้ฟังมาอย่างยาวนาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง