ผู้ประกอบการวงดนตรีจัดเวทีต้านลิขสิทธิ์เพลง "แกรมมี่"

Logo Thai PBS
ผู้ประกอบการวงดนตรีจัดเวทีต้านลิขสิทธิ์เพลง "แกรมมี่"

เป็นปัญหามาระยะหนึ่งแล้วสำหรับการเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างวงดนตรีพื้นบ้านที่เห็นว่า ค่ายใหญ่เรียกเก็บค่านำเพลงไปแสดงสดในอัตราที่สูงเกินไป แม้จะมีความพยายามเจรจาเพื่อหาทางออก หากจุดยืนที่ต่างกัน ก็ทำให้วงดนตรีพื้นบ้านเตรียมมาตรการประท้วงค่ายใหญ่

วงดนตรีพื้นบ้าน ยืนยัน 3 ม. คือ ไม่จ่าย ไม่ร้อง และไม่ให้นักร้องแกรมมี่ขึ้นเวที เมื่อการเจรจาล่าสุดระหว่างแกรมมี่ กับตัวแทนวงหมอลำพื้นบ้านยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทำให้วงดนตรีและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บค่าลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงใหญ่ ออกเดินสายตั้งเวทีต่อต้านลิขสิทธิ์เพลง ให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนปัญหา โดยมีตัวแทนชมรมคนรักดนตรี เวที แสงสีเสียงแห่งประเทศไทย ใช้โอกาสนี้รวมกลุ่มวงดนตรีในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภาค ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ จ.นครนายก และล่าสุดที่ จ.ราชบุรี โดยสร้างเครือข่ายและข้อกำหนดที่เข้าใจตรงกันของวงดนตรีทั่วประเทศเพื่อกดดันแกรมมี่
                          

<"">

แม้หลายฝ่ายมองว่า การเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงเป็นไปตามกฎหมาย แต่สำหรับวงดนตรีเหล่านี้ กลับเป็นปัญหาใหญ่เพราะหากต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงทุกครั้งที่แสดง หรือ เหมาจ่ายราคาสูงในจำนวนเพลงจำกัด วงดนตรีเล็ก ๆ อย่างพวกเขาหรือแม้แต่วงหมอลำก็แทบไม่เหลือกำไร และกังวลว่า นี่อาจเป็นตัวอย่างให้ค่ายเพลงอื่น ๆ ทำตาม

การเจรจาล่าสุด ตัวแทนฝ่ายกฎหมายของแกรมมี่ ยอมลดหย่อนเสนอผ่อนปรนไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์กับวงดนตรีและหมอลำที่รายได้จากการแสดงต่อครั้งไม่ถึง 20,000 บาท หากจุดยืนของชมรมคนรักดนตรี เวที แสงสีเสียงแห่งประเทศไทย คือให้แกรมมี่งดเว้นการเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงในการแสดงทางวัฒนธรรม งานบุญ งานบวช โดยอ้างเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม ซึ่งแกรมมี่ ก็ยังยืนยันจำเป็นต้องรักษาสิทธิ์ให้กับครูเพลงผู้สร้างสรรค์ผลงาน แต่พร้อมเจรจาเพื่อให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
 
<"">
 
<"">

ด้านนายกษม อดิศัยปัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส (สายธุรกิจแพลง) บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กล่าวว่า "ขณะนี้อาจจะอยู่ในช่วงที่ทุกคนอาจจะยังตั้งรับไม่ได้ ประกอบกับภาวะน้ำท่วม ซึ่งก็จะผ่อนปรนไปจนถึงช่วงสิ้นเดือนธันวาคม เพื่อให้ทุกคนตั้งตัวได้ และเข้าพูดคุยกัน ถึงรายได้ที่สัมพันธ์กับค่าจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลง"

ขณะที่ นายเกรียงศักดิ์ ปรีชาวุฒิวัฒน์ ประธานชมรมคนรักดนตรี เวที แสงสีเสียงแห่งประเทศไทย เผยว่า  "ตรงนี้เป็นจุดยืนของความสุขของคนไทย ทั้งประเพณี วัฒนธรรม อยากขอให้เว้นไว้ให้กับคนไทยบ้าง ทางออกของปัญหา"

ด้านนายพิเศษ จียาศักดิ์ คณะกรรมการลิขสิทธิและกรรมการสมาคมทรัพย์สินทางปัญญาฯ กล่าวว่า "การรักษาลิขสิทธิ์ และวัฒนธรรมของทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเดินไปด้วยกันได้ ซึ่งขระนี้มีข้อเสนอที่ดีจากทั้ง 2 ฝ่าย "
                                 
<"">

ไม่ว่าเส้นจบของปัญหาการเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงของ จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ กับ วงดนตรีและหมอลำจะจบลงที่อย่างไร นี่ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ขณะที่กลุ่มชมรมคนรักดนตรี เวที แสงสีเสียงแห่งประเทศไทย ที่รวมตัวก่อตั้งเพียงเดือนเศษ ยังคงเดินหน้าจัดเวทีต้านลิขสิทธิ์เพลงเพื่อสร้างแนวทางเดียวกัน และล่ารายชื่อให้ได้ 10,000 ชื่อ เพื่อยิ่นหนังสือให้กับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หวังสร้างจุดเปลี่ยนและแก้ไขข้อกฎหมาย และวางแผนร่วมมือกับนักร้องลูกทุ่งบางส่วนจัดคอนเสิร์ตต้านลิขสิทธิ์เพลง เพื่อแสดงจุดยืนของพวกเขา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง