"นักวิชาการ" ชี้ มวลชนใช้"อารยะขัดขืน" สามารถทำได้ - แนะรัฐใช้กม.ควบคุมเท่าที่จำเป็น

การเมือง
13 พ.ย. 56
04:15
53
Logo Thai PBS
"นักวิชาการ" ชี้ มวลชนใช้"อารยะขัดขืน" สามารถทำได้ - แนะรัฐใช้กม.ควบคุมเท่าที่จำเป็น

นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การเคลื่อนไหวด้วยแนวทางอารยะขัดขืน และสันติวิธีสามารถทำได้ แต่ผู้กระทำก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับผลของการกระทำด้วยเช่นกัน พร้อมแนะรัฐทำความเข้าใจและใช้กฎหมายควบคุมเท่าที่จำเป็นต่อสถานการณ์

วันนี้ (13 พ.ย.) นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงมาตรการอารยะขัดขืน ตามที่แกนนำได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมร่วมปฏิบัติ โดยระบุว่า อารยะขัดขืน เป็นวิธีการต่อสู้กับอำนาจรัฐซึ่งมีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งตำรวจระบุว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งแท้จริงแล้วฐานรากของความคิดอารยะขัดขืนคือการทำผิดกฎหมาย โดยมีลักษณะสำคัญหลายประการ เช่น เป็นการกระทำผิดกฎหมาย หรือ ละเมิดกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สาธารณะบอกว่าจะกระทำล่วงหน้าและเป็นการกระทำที่ใช้สันติวิธี และอาจเป็นวิธีที่ผิดกฎหมายก็ได้ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายเสมอไป แต่จุดสำคัญก็คือ ผู้ที่กระทำในการละเมิดกฎหมาย เมื่อทำแล้วจะต้องยอมรับผลของการละเมิดกฎหมายนั้น อาทิ เช่น กรณีของมาร์ติน ลูเธอร์คิง ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวดำ ซึ่งได้กระทำผิดกฎหมายในรัฐนั้น ที่ห้ามชาวผิวดำนั่งพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเขาเข้าไปนั่งและได้ละเมิดกฎหมายของรัฐนั้น
 
นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวว่า มาตรการทั้ง 4 ตามที่แกนนำมวลชนประกาศเช่นการนัดหยุดงาน หรือ งดจ่ายภาษี การเป่านกหวีด และการติดธงชาติหน้าบ้าน ซึ่งการนัดหยุดงานเป็นสิทธิส่วนบุคคลของพนักงานไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย รวมถึงการชะลอการจ่ายภาษีการอาจชะลอได้ ซึ่งเป็นกระบวนการสันติวิธีที่ใช้ต่อสู้กับรัฐ ซึ่งหากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ถือว่าเป็นอารยะขัดขืน
 
นอกจากนี้ กระบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะสามารถส่งผลกระทบในการกดดันรัฐบาลได้หรือไม่นั้น นายชัยวัฒน์ มองว่า หากประเมินความสัมพันธ์ทางอำนาจของฝ่ายต่าง ๆ และมวลชนในพื้นที่ ซึ่งการเคลื่อนไหวเช่นนี้จะต้องเป็นการพิสูจน์ถึงความไม่ยุติธรรมที่ได้รับให้เห็นอย่างเด่นชัด ซึ่งไม่แน่ใจว่า ความรู้สึกของคนทั่วไปนั้นรู้สึกเช่นไรต่อการเคลื่อนไหวนี้ รวมถึง ทางฝ่ายของผู้ชุมนุมจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมว่า เหตุใดสถานการณ์ของปัญหายังไม่เปลี่ยนแปลงตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการ
 
ขณะที่การลาออกของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นั้นสะท้อนให้เห็นได้ว่า คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และส.ส.ที่ลาออก ทั้งหมด เบื้องต้นต้องการแก้ข้อกล่าวหากรณีที่ถูกมองว่า การไม่ทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาฯ แต่ออกมาทำหน้าที่นำมวลชนนอกสภา และเมื่อตัดสินใจดังนี้ก็สามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ และมีการคาดว่า อาจจะมีการยุบสภาฯในระยะเวลาต่อไป ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าต้องการเอาจริงกับเรื่องนี้และเป็นการเสียสละ ซึ่งการลาอกจากตำแหน่ง ส.ส.เท่ากับว่ายอมเสียภูมิคุ้มกัน หรือ เอกสิทธิ์ที่เคยมีในฐานะ ส.ส. ซึ่งต้องการให้สาธารณชนและผู้สนับสนุนจะได้รับทราบถึงเรื่องนี้
 
นายชัยวัฒน์ ยังมองว่า เงื่อนไขที่จะเกิดการเผชิญหน้า มองว่า  สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเสี่ยง และโอกาสที่จะเผชิญหน้าปัจจัยเสี่ยงยังคงมี แต่ยังเชื่อว่าทั้งรัฐบาลและกลุ่มนปช.ไม่ต้องการที่จะให้เกิดการเผชิญหน้า โดยเฉพาะรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าขึ้น และกลุ่มนปช.ก็ไม่ต้องการเช่นกันและก็มีวินัยซึ่งขึ้นอยู่กับแกนนำว่าจะตัดสินใจอย่างไร รวมถึงตราบใดก็ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจในการทำหน้าที่ของรัฐบาลยังคงเคลื่อนไหวด้วยแนวทางอารยะขัดขืน และสันติวิธีรัฐบาลก็ควรที่จะเข้าใจและใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็นตามสถานการณ์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง