วิเคราะห์ แนวโน้มการโหวตร่างแก้ไขรธน. ม.291

การเมือง
21 พ.ย. 56
13:17
178
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ แนวโน้มการโหวตร่างแก้ไขรธน. ม.291

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันเป้าประสงค์ของส.ส.พรรคกรณีผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพื่อเดินหน้าสร้างบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น หลังกลุ่ม นปช. เสนอให้รัฐสภาหยิบยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ว่าด้วยการแก้มาตรา 291 คือการแก้หลักเกณฑ์และวิธีการ ด้วยการเปิดทางให้จัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

อดีต ส.ส.ร. ปี 2550 ถึง 2 คนด้วยกัน กล่าวยอมรับว่า รัฐสภา สามารถหยิบยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขมาตรา 291 ที่ค้างอยู่ขึ้นมาพิจารณาลงมติวาระ 3 เพื่อให้ความเห็นชอบและมีผลบังคับใช้ได้โดยชอบด้วยข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ หากแต่มีเงื่อนไขใดบ้างที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง และต้องดำเนินการให้ถูกต้องชอบธรรม

 
อดีตส.ส.ร. ปี 2550 ซึ่งก็คือ อาจารย์เสรี สุวรรณภานนท์ และอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรัตน์ ที่ระบุว่า รัฐสภาสามารถหยิบยกร่างแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291ที่ค้างอยู่ในรัฐสภาขึ้นมาพิจารณาลงมติวาระที่ 3 ได้ แต่ก็มีข้อสังเกตให้ต้องขบคิดและไตร่ตรองด้วย โดยเฉพาะคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีไว้ก่อนหน้านี้
 
ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ระบุว่า เป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภาที่จะหยิบร่างแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขึ้นมาลงมติวาระที่ 3 แต่ก็ต้องคำนึงถึงหลักปฏิบัติตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยให้ไว้ด้วย นั่นคือ "การทำประชามติ" เพื่อถามความเห็นของประชาชนและเสนอให้ทำ ทั้งก่อน - หลังแก้รัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ พร้อมชี้ว่า แม้จะเป็นเพียงคำแนะนำจากศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ก็ย่อมต้องมีผลตามมา โดยเฉพาะการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกรอบ
 
และแม้จะเห็นต่างกันเล็กน้อย เรื่องการทำประชามติ ที่เห็นว่า ควรทำหลังการแก้รัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ เพื่อถามประชาชนว่า เห็นชอบหรือไม่ กับการแก้รัฐธรรมนูญครั้งใหม่แต่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ก็กล่าวย้ำในหลักปฏิบัติเดียวกัน คือ ควรทำประชามติ ตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหลีกเหลี่ยงปัญหาที่จะตามมา หากมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลังความผิดสำเร็จแล้ว จะยิ่งสร้างปมปัญหาให้ใหญ่ขึ้น
 
แต่ก็มีข้อสังเกตจากอดีตส.ส.ร.ทั้ง 2 คน โดยนายเสรี เห็นว่า ช่องทางการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ถูกต้องและชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ศาลก็ชี้แนะให้แล้ว แต่เหตุใดสมาชิกรัฐสภาไม่กล้าทำ แต่กลับไปเลือกกระทำในช่องทางอื่นและฝ่าฝืนหักเหกระบวนการที่ชอบไป และหากยังคงเชื่อมั่นในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้รัฐธรรมนูญ ก็เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญได้
 
ขณะที่ ศ.นครินทร์ ตั้งคำถามว่า สมาชิกรัฐสภาไม่ได้มีเพียง ส.ส.พรรคเพื่อไทย หรือ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ  นปช.ดังนั้นควรหรือไม่ ที่จะต้องดำเนินการตามข้อเสนอของ นปช.โดยเฉพาะในภาวะสถานการณ์เช่นนี้
 
<"">
 
<"">
วันนี้ (21 พ.ย.2556) พรรคเพื่อไทยแถลงการณ์ 9 ข้อ โดยย้ำว่า สมาชิกรัฐสภามีอำนาจโดยชอบในการแก้รัฐธรรมนูญและเตรียมเดินหน้าถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณีปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและใช้อำนาจกระทบกระเทือนต่อพระราชอำนาจ และแม้จะยังไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ กรณีการเดินหน้าลงมติวาระ 3 ร่างแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 แต่ก็ส่งสัญญาณว่า พรรคจะไม่เปลี่ยนเป้าหมายที่จะเดินหน้าเพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น
 
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคำร้องการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เมื่อกลางปี 2555 ชี้ว่า รัฐสภามีอำนาจโดยชอบที่จะแก้มาตรา 291 แต่การแก้เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ควรให้ประชาชน ซึ่งเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้ลงประชามติแสดงความเห็นก่อนว่า ควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เนื่องจากการแก้เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเดิม
 
สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่รัฐสภาลงมติเห็นชอบในวาระที่ 2 และยังคงค้างอยู่นั้นมีเนื้อหาของการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการ จากการให้อำนาจการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเป็นของ คณะรัฐมนตรี, สมาชิกรัฐสภา,และประชาชน เป็นการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. รวม 99 คน โดยมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนและจากการสรรหาโดยรัฐสภา 22 คน เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแต่ให้คงรักษาซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
นับจากนี้ไป คงไม่เพียงแค่ รัฐบาล พรรคเพื่อไทย หรือ กลุ่ม นปช.เท่านั้น ที่จะต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาไตร่ตรองขบคิดให้รอบด้าน ก่อนดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้เจตนาและเป้าหมายจะดำเนินการเพื่อสร้างประชาธิปไตยของประเทศให้สมบูรณ์ขึ้น แต่หลักและใจความสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ระบุไว้อย่างชัดเจน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง