คำต่อคำ กัปตันนกแอร์เปิดใจถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เผยปมปัญหามาจากนักบินขาดแคลน

เศรษฐกิจ
16 ก.พ. 59
13:47
5,576
Logo Thai PBS
คำต่อคำ กัปตันนกแอร์เปิดใจถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เผยปมปัญหามาจากนักบินขาดแคลน
นักบินนกแอร์เปิดใจถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไร้กระบวนการสอบสวน ระบุนักบินมีสิทธิตัดสินใจไม่บินหากไม่พร้อม เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ชี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนภาวะนักบินขาดแคลนอย่างหนักของบริษัท เตรียมเดินหน้าฟ้องร้องต่อศาล

วันนี้ (16 ก.พ. 2559) นายศานิต คงเพชร อดีตผู้จัดการแผนกรักษามาตรฐานการบิน และนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน หนึ่งในกัปตันที่ถูก บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด เลิกจ้าง ให้สัมภาษณ์ถึงชนวนเหตุที่ทำให้เกิดกรณีสายการบินนกแอร์ยกเลิกเที่ยวบิน จนกระทบผู้โดยสารนับ 1,000 คน เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมาว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นสุดวิสัย สืบเนื่องจากฝ่ายบริหารกับฝ่ายการบินไม่ได้ประสานงานให้ลงตัวกัน โดยทางฝ่ายบริหารได้บีบบังคับเพื่อทำการปล่อย ยกตัวอย่าง เช่น ผู้บริหารอยากกินมะม่วง ทว่า มะม่วงยังไม่สุก แต่ผู้บริหารอยากจะกินเพื่อผลประโยชน์ และไปเร่งมันแล้วเอามากิน จึงเกิดคำถามว่ามันถูกหรือไม่

นายศานิต กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ ถ้าในเรื่องความปลอดภัยผู้โดยสารน่าจะยอม เพราะถ้าเดินทางแล้วไม่ปลอดภัยตนคิดว่าผู้โดยสารเลื่อนจะดีกว่า และขอปฏิเสธในเรื่องที่ผู้บริหารระบุว่านักบินไม่ผ่านมาตรฐานเอียซา เพราะเอียซาตรวจองค์กร ไม่ได้ตรวจบุคคล อีกทั้งยังไม่ได้เป็นการประท้วง เนื่องจากหากนักบินประท้วงจริงต้องยกเลิกทั้ง 120 ไฟลท์ ไม่ใช่แค่ 9 ไฟลท์

“เหตุผลของการยกเลิกไฟลท์ น่าจะมาจากการขาดแคลนนักบินมากกว่า และไม่น่าจะเป็นการเอาผู้โดยสารเป็นตัวประกัน เนื่องจากนกแอร์เปิดให้บริการมา 12 ปี เราขอบคุณผู้โดยสาร และรักผู้โดยสารทุกท่าน เราไม่ทำอย่างนั้นแน่นอน เรามีจิตใจ เราได้รับการฝึก ผมบินมา 20 ปี จะจับผู้โดยสารเป็นตัวประกันทำไม จิตวิญญาณในสายอาชีพเชื่อว่าในโลกไม่มีใครคิดอย่างนั้น” อดีตผู้จัดการแผนกรักษามาตรฐานการบิน และนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน สายการบินนกแอร์ ระบุ

นายศานิต กล่าวต่ออีกว่า ภาพรวมสายการบินทั้งโลกขาดแคลนนักบินอยู่แล้วเช่นเดียวกับนกแอร์ เพราะที่ผ่านมานักบินไหลออกจำนวนมาก จากเรื่องค่าตอบแทนส่วนหนึ่ง เพราะค่าตอบแทนของนกแอร์ต่ำสุดในบรรดาสายการบิน และอีกส่วนเป็นความอึดอัดใจ ขณะที่ไฟลท์บินเท่าเดิม ทำให้นักบินต้องบินถี่มากขึ้น แต่กฎของการบินใน 1 เดือน บินได้ 80 ชั่วโมง จึงไม่สามารถบินได้อีกและจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบิน ขณะที่ นักบินสำรองที่เตรียมไว้ก็ไม่เพียงพอ ซึ่งต้องถามฝ่ายบริหารว่าจะจัดการบริหารองค์กรอย่างไร

“ถ้านักบินไม่พร้อมบิน สภาพจิตใจ เครียด ป่วย มันเป็นอันตรายอย่างมากต่อการตัดสินใจทำการบิน จึงสามารถลากระทันหันได้ เพราะการตัดสินใจผิดเพียงนิดเดียว โดยเฉพาะผู้โดยสารเกือบสองร้อยคน รวมถึงหลังบ้านของเขาก็ร่วมพันคน ผมพิจารณาตัวเองที่ป่วยแล้วสภาพจิตใจไม่พร้อมบิน ก็เลยแจ้งว่าบินไม่ไหว ขอไม่บิน และกลับไปนอนที่บ้านในวันที่ 15 ก.พ. เลยเป็นสาเหตุให้ถูกเลิกจ้างเพียงคนเดียว ทั้งที่หน้าที่เป็นของเจ้าหน้าที่จัดเวรบินที่จะรู้อยู่แล้วว่าใครจะมาแทนได้บ้าง” นายศานิต แจง

นายศานิตกล่าวว่า ถ้าให้ความยุติธรรมกับตนสักหน่อย เรียกไปสอบถาม หรือตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตนก็โอเค แต่อยู่ ๆ มาโดนอย่างนี้ ตนก็มีลูกเมียที่ต้องรับผิดชอบ มีภาระ หลายคนก็แนะนำให้ฟ้องร้อง และเรียกร้องความเป็นธรรมให้อาชีพตัวเอง เพราะถ้าไม่ฟ้องก็อาจเกิดเหตุซ้ำ แต่กำลังพิจารณาเพราะที่ผ่านมายังไม่เคยฟ้องร้องใคร

“จากเหตุการณ์นี้ คิดว่าภาพลักษณ์ธุรกิจการบินไทยคงเสียหาย และภาพพจน์คงดูไม่ดี ก็อยากให้ทุกฝ่ายทั้งทางผู้บริหารและนักบินหันหน้าคุยกัน ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะไม่ได้คุยกัน แต่เชื่อว่าทุกอย่างคุยได้หมด สาเหตุอีกประการคืออุตสาหกรรมการบินของไทยโตเร็วเกินและคนปรับตัวไม่ทันในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องขาดแคลนบุคลากรที่ใช้เวลาผลิตกัปตันต่อ 1 คน 3-7 ปี ฉะนั้น หากไม่รักษาบุคลากรไว้ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ” อดีตผู้บริหารสายการบินนกแอร์ กล่าว

ด้าน นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด ออกมาชี้แจงว่า กรณีของนายศานิตที่ถูกบริษัทเชิญให้ออกนั้น เพราะมาเซ็นชื่อขึ้นบิน แต่ช่วง 15 นาที ก่อนบินกลับหายตัวไป โดยที่นักบินผู้ช่วยนั่งรออยู่บนเครื่องแล้ว

“โดยปกติต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที ในการแจ้งว่าเจ็บป่วยขึ้นบินไม่ได้ ซึ่งเวลาเพียง 15 นาที ทางสายการบินไม่สามารถหานักบินขับแทนได้ทัน” นายพาที ระบุ

 

ชั่วโมงทำกิน ฟังความอีกด้าน เปิดใจครั้งแรกที่ไทยพีบีเอส ! กัปตันที่ถูกเลิกจ้าง ถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์ยกเลิก 9 เที่ยวบินนกแอร์ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งมีผลให้ พักงาน 2 คนสอบสวน 7 คนและเลิกจ้าง 1 คน #Thaipbs

Posted by ชั่วโมงทำกิน Thaipbs on 15 กุมภาพันธ์ 2016

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง