สื่อระบุ 4 คำถามที่นายกฯให้ไม่พอ-อาจไม่กระจ่าง อีกมุมเห็นด้วย "นักข่าวควรทำการบ้าน" ก่อนทำข่าว

การเมือง
17 ก.พ. 59
20:02
722
Logo Thai PBS
สื่อระบุ 4 คำถามที่นายกฯให้ไม่พอ-อาจไม่กระจ่าง อีกมุมเห็นด้วย "นักข่าวควรทำการบ้าน" ก่อนทำข่าว
เกิดข้อถกเถียงในแวดวงสื่อสารมวลชนและสังคมไม่น้อย ถึงคำสั่งการปรับรูปแบบให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จำกัดให้ถามได้แค่ 4 คำถาม หลังประชุม ครม.ว่าเป็นการลิดรอนสิทธิและการทำงานของสื่อหรือไม่ และประชาชนจะได้อะไรจากการจำกัดสิทธิ์นี้

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที หลังจากสื่อมวลชนทราบถึงคำสั่งการปรับรูปแบบวิธีการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี โดยอนุญาตให้สื่อถามได้เพียง 4 คำถาม ในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี และต้องระบุชื่อพร้อมสังกัดก่อนเอยคำถาม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เซ็นไว้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.2559 ก่อนเดินทางเข้าร่วมการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ พร้อมให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ช่วยโฆษกประจำกระทรวง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ชี้แจงประเด็นย่อยอื่นๆ ซึ่งการจัดระเบียบการให้สัมภาษณ์แบบใหม่นี้ เริ่มใช้แล้วตั้งแต่ 16 ก.พ.2559 ที่ผ่านมา

แม้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะออกมาปฏิเสธ ในเวลาต่อมาว่า คำสั่งดังกล่าวมาจากการที่สำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เขียนข้ออนุมัติหลักการเพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ไม่ใช่การสั่งตรงจาก พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนี้ก็เพื่อตามใจผู้จัดและไม่ขัดใจผู้ฟัง

แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยไขข้อคลางแคลงใจให้สังคม หรือทำให้สื่อมวลชนเกิดความกระจ่าง ว่าระเบียบใหม่ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เซ็นคำสั่งนั้น มีข้อดีมากกว่าข้อเสียอย่างไร ประชาชนจะได้อะไรจากการตอบคำถามที่จำกัดจำเขี่ยนี้ ที่สำคัญเป็นการลิดรอนสิทธิการทำงานของสื่อมวลชนหรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ประจำทำเนียบรัฐบาล สะท้อนว่า บรรยากาศภายหลังการประกาศปรับคำสั่งการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนใหม่ของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีความขัดแย้งใด ๆ ส่วนมากยินดีให้ความร่วมมือ และมองว่ามีข้อดีตรงที่ทำให้สื่อมวลชนด้วยกันเองเรียงลำดับความสำคัญของเรื่องที่จะถาม โดยจะได้ไม่ถามแบบสะเปะสะปะอย่างที่แล้วมา แต่ก็กังวลว่าหากถามไปแล้วแต่ยังได้คำตอบไม่ชัดเจน และไม่สามารถถามเพิ่มได้อีกเพราะหมดโควต้า อาจทำให้สารที่ส่งไปถึงสังคมหรือประชาชนไม่ครบถ้วน หรือผิดไปจากความจริง

ด้าน มานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ในฐานะโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ประจำเดือน เห็นว่าการให้แจ้งชื่อ นามสกุล และต้นสังกัด เป็นธรรมเนียมปฏิบัติตามหลักสากล ซึ่งสมาคมนักข่าวฯ ไม่ติดใจในประเด็นดังกล่าว ทว่า การกำหนดให้ถามเพียง 4 คำถามนั้น ทางสมาคมเห็นว่าน้อยเกินไป จนอาจถูกมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของสื่อในการตั้งคำถาม ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินของผู้บริหารประเทศ และไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้สื่อมวลชนส่งคำถามให้กับนายกฯ ล่วงหน้า

“เชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเป็นปรากฏการณ์ช่วงสั้นๆ เท่านั้น และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะการออกคำสั่งหรือสั่งให้มีแนวปฏิบัติเช่นนี้ เป็นการฝืนธรรมชาติของผู้นำประเทศและสื่อมวลชนโดยทั่วไป” มานพ แจง

สอดคล้องกับทัศนะของ พิเชษฐ์ ชูรักษ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการและบรรณาธิการข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ที่อธิบายว่า คำสั่งการเปลี่ยนรูปแบบการให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ที่ออกมาเมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิและแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนอย่างชัดเจน เพียงเพื่อต้องการรักษาภาพลักษณ์ของผู้นำประเทศไม่ให้เสียหายจากการตอบคำถามสื่อมวลชน เพราะคำถามเพียง 4 คำถาม ไม่สามารถสร้างกระจ่างต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล ที่มีอยู่จำนวนมากได้

“เมื่อคำตอบไม่กระจ่างชัด สื่อก็ต้องถามเพิ่มเพื่อเอาข้อเท็จจริงนำเสนอต่อประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิ์ของนายกฯ ว่าจะตอบหรือไม่ก็ได้ แต่เมื่อถูกห้ามถาม สื่อก็ไม่สามารถสื่อสารข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบได้ ขณะที่การมอบให้รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย อธิบดี จนถึงข้าราชการระดับล่างมาตอบ ความน่าเชื่อถือของข้อมูลก็น้อยลงมา และบางครั้งอาจโดนคำสั่งห้ามให้ข้อมูล” บรรณาธิการข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ระบุ

พิเชษฐ์ ยังบอกอีกว่า ส่วนตัวยังคิดว่าให้ถามเพียง 4 คำถาม ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนถาม คนฟัง และคนตอบ ที่สำคัญคือคำสั่งนี้ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อรัฐบาล เพราะมันคือการตอบคำถามในสิ่งที่ตนเองอยากตอบ ซึ่งก็เหมือบกับการพูดในรายการคืนความสุขให้ประชาชน อย่างไรก็ดี ในอดีตเคยเกิดสถานการณ์เช่นนี้มาแล้ว ที่สื่อถูกควบคุมหรือถูกกำจัดเสรีภาพในการตั้งคำถามหรือทำข่าวในฝั่งรัฐบาล แต่ก็จะคลี่คลายในที่สุด

ขณะที่ ยุวดี ธัญญสิริ นักข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล สังกัดหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กลับเห็นต่างออกไปโดยมองว่า สื่อต้องหันกลับมาสำรวจตัวเองว่าการตั้งคำถามไปยังผู้นำประเทศนั้นโอเคแล้วหรือไม่ ตรงประเด็น หรือมีการทำการบ้านมาก่อนหรือเปล่า เพราะทุกวันนี้การทำงานของสื่อเปลี่ยนไป จำนวนสื่อที่มากขึ้นการแข่งขันย่อมมากขึ้นตาม ขณะเดียวกันก็ต้องแข่งกับเวลาที่เน้นความเร็วเข้าว่า บางครั้งคำถามนี้ถามไปแล้ว แต่คนมาทีหลังก็ถามซ้ำทำให้เสียเวลา แทนที่จะได้ประเด็นต่อยอดหรือเสริมประเด็นให้แน่นขึ้นก็ไม่ได้ หรืออยากได้อะไรก็แย่งกันถามโดยไม่ได้เรื่องประติดประต่อ เป็นต้น

“ส่วนตัวคิดว่าการจัดระเบียบแบบนี้ก็ดี และเท่าที่ดูนักข่าวทำเนียบไม่ได้มีปัญหาหรือขัดแย้งกับกฎที่ออกมา เพราะในแต่ละวันจะมีข่าวพาดหัวสักกี่ข่าวกันเชียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะไม่เกิดปัญหาใด ๆ เลย ถ้าแหล่งข่าวและนักข่าวให้เกียรติในการทำงานกันและกัน เพราะท้ายที่สุดก็ต้องพึ่งพิงกันอยู่ดี และเชื่อว่าการให้สัมภาษณ์จะไหลไปตามสถานการณ์ที่ควรจะเป็น โดยไม่ได้จำกัดอยู่กับจำนวนคำถาม” ยุวดี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง