คุณค่าศิลปะจากเทศกาลรอยสัก Mondial du Tatouage

ไลฟ์สไตล์
8 มี.ค. 59
06:32
890
Logo Thai PBS
คุณค่าศิลปะจากเทศกาลรอยสัก Mondial du Tatouage
แม้การสักจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น จนมีการจัดเป็นเทศกาลใหญ่ระดับชาติที่ฝรั่งเศส หากแต่สถานภาพของช่างสักที่ไม่ต่างอะไรกับผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ กลับถูกมองเป็นเพียงอาชีพรับจ้างทั่วไป จึงมีความพยายามผลักดันให้การสักได้รับการยอมรับในฐานะศิลปะแขนงหนึ่ง

ช่างสักแถวหน้ากว่า 360 คน จาก 35 ประเทศทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และไทยมาแสดงฝีมือสร้างงานศิลป์บนผิวหนัง ในเทศกาล Mondial du Tatouage หรือ The World of Tattoo งานเอ็กซ์โปการสักในฝรั่งเศส ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 ฟิบส์ ช่างสักจากปอร์โต ริโก กล่าวว่า ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลรอยสักที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โจอี้ ออร์เตก้า ช่างสักจากเท็กซัส กล่าวว่า ลูกค้าในปัจจุบันต้องการรอยสักที่มีเอกลักษณ์มากขึ้น จากเดิมที่พอใจกับแบบที่ทางร้านเตรียมไว้ เดี๋ยวนี้พวกเขาต้องการรอยสักที่ไม่ซ้ำกับใคร ส่วนหญิงผู้นี้ตัดสินใจสักครั้งแรก เพราะอยากมีรอยสักเหมือนกับแม่ที่มีรอยสักของตัวเองอยู่แล้ว

ในงานซึ่งจัดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้หลงใหลรอยสักทั่วโลกกว่า 30,000 คน มาร่วมเทศกาลตลอดทั้ง 3 วัน โดยรอยสักที่ได้รับความนิยม นอกจากสไตล์คลาสสิกแบบชนเผ่าโพลินีเซียนและรอยสักแบบญี่ปุ่นแล้ว สไตล์ที่กำลังมาแรงอย่างมากในยุคนี้ คือการสักแบบ trash polka ที่คิดค้นโดยคู่หูช่างชาวเยอรมัน ซีโมน ฟัฟ และวอลโก แมร์ชสกี้ ซึ่งเป็นการสักลายที่ใช้สีแดงและดำ มาสร้างลวดลายที่เน้นความสมจริง

ศิลปะการสักเป็นที่ยอมรับในฝรั่งเศสมากขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นที่นิยมแต่บรรดาทหารเรือและแก๊งซิ่งมอเตอร์ไซค์ ปัจจุบัน 1 ใน 5 ของหนุ่มสาวเมืองน้ำหอมอายุระหว่าง 25 - 35 ปี ต่างมีรอยสักบนร่างกายอย่างน้อย 1 แห่ง จากเดิมที่เคยมีร้านสักทั่วประเทศเพียง 15 แห่งในปี 1982 วันนี้ฝรั่งเศสมีรอยสักเปิดบริการกว่า 1,500 แห่ง

หนึ่งในผู้ที่ทำให้ศิลปะการสักเป็นที่นิยมในแดนน้ำหอม คือ ตินติน ผู้ก่อตั้งเทศกาล Mondial du Tatouage ฉายาราชาช่างสักแห่งฝรั่งเศส ที่เคยฝากฝีมือการลงรอยสักให้กับคนดังทั้งดีไซเนอร์ ฌอง พอล โกติเยร์ และนักเทนนิส ยานนิก โนอาร์ ซึ่งบทบาทในปัจจุบันของเขา คือการผลักดันให้การสักได้รับการยอมรับในฐานะศิลปะแขนงหนึ่ง เนื่องจากกฎหมายฝรั่งเศสไม่จัดให้ช่างสักอยู่ในหมวดอาชีพศิลปิน ซึ่งเป็นอาชีพที่ทางการให้สิทธิลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ช่างสักจึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนที่จิตรกร, ช่างภาพ, นักเขียน หรือนักแต่งเพลงได้รับ ซึ่งปัญหาสำคัญมาจากความเชื่อของคนที่ยังคงมองว่าผิวหนังไม่ใช่พื้นที่สร้างงานศิลปะ เหมือนกับที่ผืนผ้าใบของจิตรกรหรือแผ่นฟิล์มของผู้กำกับเป็นที่ยอมรับ ตินติน จึงหวังว่าวันหนึ่งสังคมจะให้การยอมรับ เพราะสำหรับเขาแล้ว การสักต่างจากแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่รอยสักเป็นศิลปะที่สร้างสรรค์ เพื่อการดำรงอยู่อย่างถาวร

ตินติน กล่าวว่า อาชีพช่างสัก มีคุณลักษณะของศิลปินตรงกับการจำกัดความของยูเนสโก เขายังล่ารายชื่อบนโลกออนไลน์ เพื่อให้ทางการฝรั่งเศสยอมรับอาชีพช่างสักในฐานะศิลปิน ซึ่งมีผู้ลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่า 14,000 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง