เหตุผลที่ซีดียุคใหม่เสียงดังกว่าซีดียุคเก่า

Logo Thai PBS
เหตุผลที่ซีดียุคใหม่เสียงดังกว่าซีดียุคเก่า
พูดถึงการผลิตอัลบั้ม เป็นใครก็อยากให้ออกมาดัง ซึ่งความดังในที่นี้ยังหมายถึงความดังของเสียงที่ออกจากมาซีดียุคใหม่ ซึ่งให้เสียงที่ดังกว่าซีดีหรือเทปจากยุคเก่าอย่างมาก เพราะผู้ผลิตต้องการให้บทเพลงติดหูแฟนเพลงให้มากที่สุด แม้จะแลกมาด้วยการสูญเสียคุณภาพเสียง

แม้จะเป็นอัลบั้มสำคัญของยอดวงร็อกหลายๆ วง แต่ Californication ของ Red Hot Chili Peppers, (What's the Story) Morning Glory ของ Oasis จนถึงอัลบั้มแจ้งเกิดของ Arctic Monkeys ต่างจัดอยู่ในหมวดอัลบั้มไม่น่าฟังของบรรดาคนเล่นเครื่องเสียง เนื่องจากเป็นหนึ่งในอัลบั้มหลายๆ ชุด ที่ตกเป็นเหยื่อของสงครามแห่งความดัง หรือ Loudness war ที่ค่ายเพลงพยายามทำให้อัลบั้มของศิลปินดังๆ มีเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้ฟัง โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพเสียงที่ต้องสูญเสียไปจากการกระทำดังกล่าว

กระแสการแข่งขันผลิตอัลบั้มให้ดังขึ้นเรื่อยๆ เริ่มเห็นอย่างชัดเจนในยุคที่มีการผลิตแผ่นซีดี ซึ่งกระบวนการบันทึกเสียงแบบดิจิทัล สามารถบันทึกเสียงได้ดังกว่ายุคแอนะล็อก ซึ่งผู้บริหารค่ายเพลงเชื่อว่ายิ่งเพลงเสียงดังเท่าไหร่ จะยิ่งกระตุ้นความสนใจผู้ฟังมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ซาวด์เอ็นจิเนียร์ต้องเร่งเสียงเพลงให้ดังขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เพลงยุค 2000 มีความดังมากกว่าเพลงในยุค 80 และยุค 90 อย่างเห็นได้ชัด

แต่การที่ค่ายเพลงมาเร่งโวลูมให้กับผู้ฟังโดยพลการเช่นนี้ กลับส่งผลเสียต่อคุณภาพเสียงโดยตรง เนื่องจากกระบวนการเร่งเสียงให้ดัง จำเป็นบีบอัด dynamic range หรือความกว้างของช่วงเสียงให้แคบลง จนเสียงดนตรีทั้งหมด ไม่ว่าจะอัดมาดังหรือเบา จะฟังออกมาดังเท่าๆ กันหมด แม้จะทำให้เราได้ยินเสียงต่างชัดขึ้น แต่การทำเช่นนั้นทำให้เพลงไร้มิติและไร้ชีวิตชีวา ในกรณีที่ถูกบีบอัดมากๆ ปลายเสียงซึ่งให้ความคมชัดของน้ำเสียง จะถูกตัดออกไปด้วย บางอัลบั้มเร่งเสียงจนพีค ก่อให้เกิดเสียง distortion หรือเสียงแตกกันเลยทีเดียว

อัลบั้มที่เร่งเสียงจนเกิด distortion คือ Death Magnetic ผลงานของ Metallica ซึ่งแฟนเพลงรับรู้ปัญหาได้อย่างชัดเจน เมื่อเวอร์ชั่นที่โหลดให้ฟังผ่านเกม Guitar Hero กลับมีคุณภาพเสียงดีกว่าในซีดี เนื่องจากซีดีมีการบีบอัดเสียง จนผู้ฟังแทบจะแยกเสียงต่างๆ ไม่ออก นำไปสู่การล่ารายชื่อแฟนเพลงทางออนไลน์ เพื่อโน้มน้าวให้ Metallica กลับไปรีมาสเตอร์ซีดีชุดดังกล่าว โดยไม่มีการบีบอัดเสียงเหมือนที่เป็นอยู่ในวันนี้

วิศวกรเสียงชั้นนำ มีความเห็นต่อกระแสการเร่งความดัง ของเพลงยุคใหม่แตกต่างกันไป John Fields ที่บันทึกเสียงให้กับศิลปินยุคใหม่อย่าง Jonas Brothers และ Miley Cyrus มองว่าบันทึกเสียงให้ดังเข้าไว้ จะทำให้เสียงกลองและเสียงกีตาร์ฟังดูมีพลัง ต่างจาก Niko Bolas ซาวด์เอ็นจิเนียร์ของ Neil Young และ Melissa Etheridge ที่มองว่าเป็นการนำเทคโนโลยีการบันทึกเสียงล้ำสมัย มาทำลายบทเพลงอย่างน่าเสียดาย Richard Dodd ที่บันทึกเสียงให้กับ Dixie Chicks และ kings of leon ยอมรับว่าผู้บริหารค่ายเพลง มักจะเข้ามาสั่งให้เขาเพิ่มเสียงต่างๆ ให้ดังเอาไว้ก่อน

ส่วน steve marcantonio ซาวด์เอ็นจิเนียร์ของวง rascal flatts และ keith urban ชี้ว่าเป็นเพราะแฟนเพลงวัยรุ่น ชอบฟังเพลงที่เสียงดังๆ ทำให้ค่ายเพลงแข่งกันเร่งเสียงเพลงให้ดังขึ้นนั่นเอง ด้าน อลัน พาร์สัน วิศวกรเสียงในตำนานของวง Pink Floyd ชี้ว่าเพลงดังเพิ่มความเร้าใจก็จริง แต่ธรรมชาติของมนุษย์จะรำคาญเสียงดังที่ระดับเสียงต่อเนื่อง ไม่มีขึ้นไม่มีลง เช่น เสียงนาฬิกาปลุก และการฟังเสียงดังในระดับเดียวกันอย่างต่อเนื่อง มีส่วนทำให้ผู้ฟังเหนื่อยล้าได้ง่าย โดยศูนย์วิจัยด้านการได้ยินในแอล.เอ.เตือนว่าความดังของซีดียุคใหม่ สร้างผลกระทบต่อการได้ยิน โดยเฉพาะแฟนเพลงรุ่นเยาว์

ปัจจุบันเทรนด์การผลิตอัลบั้มเสียงดังๆ เริ่มเบาบางลง เนื่องจากวันนี้แฟนเพลงหันมาฟังดนตรีผ่านหูฟังจากสมาร์ทโฟน ทำให้ความดังของเสียง เริ่มไม่มีความหมายเหมือนสมัยที่เรายังฟังเพลงจากวิทยุเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกัน เพลงที่เผยแพร่ผ่านบริการสตรีมมิ่ง สุดท้ายแล้วก็จะถูกปรับให้ความดังเท่ากันหมด ทำให้การบีบอัดเสียงเพื่อเร่งความดังเริ่มไม่มีความจำ โดยอัลบั้มที่ดังที่สุดของปี 2013 อย่าง Random Access Memories ของ Daft Punk ซึ่งคว้า 5 รางวัล Grammy Awards โดยเฉพาะสาขาบันทึกเสียงแห่งปี และ Best Engineered Album ถือเป็นอัลบั้มที่ได้รับการยกย่องจากวงการเรื่องคุณภาพเสียงที่ดี ซึ่งอัลบั้มดังกล่าวแทบจะไม่มีการบีบอัดเสียง เพื่อเพิ่มความดังแม้แต่น้อย ซึ่งเป็นความตั้งใจของทีมงานที่ยืนยันว่าความดังของเสียง ไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณภาพของบทเพลงแต่อย่างใด

ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันว่าความดังของเสียงมีผลต่อยอดขายอัลบั้ม เหมือนที่บริษัทเพลงสันนิษฐานแต่อย่างใด แต่น่าคิดว่าการที่ซีดียอดขายตกลงในช่วง 10 กว่าปี อันเป็นช่วงที่วงการเพลงเข้าสู่ยุคสงครามแห่งความดัง อาจเป็นเพราะแฟนเพลงหันหลังให้กับความดังแบบไร้คุณภาพของบทเพลงในยุค Loudness war ก็เป็นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง