ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องให้ ปตท.คืนท่อก๊าซกลับมาเป็นทรัพย์สมบัติแผ่นดิน

เศรษฐกิจ
4 เม.ย. 59
12:43
2,648
Logo Thai PBS
ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องให้ ปตท.คืนท่อก๊าซกลับมาเป็นทรัพย์สมบัติแผ่นดิน
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นฟ้อง ก.คลัง-พลังงาน- ปตท. ต่อศาลปกครองกลาง ขอคำสั่งทวงคืนท่อก๊าซ และ กลับคืนมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน พร้อมขอให้จ่ายคืนรายได้ที่รัฐสูญอีก 5.2 หมื่นล้านบาท

วันนี้ (4 เม.ย.2559) เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตราวจการแผ่นดิน นำเอกสารใส่รถเข็นเดินทางไปศาลปกครองกลาง ยื่นฟ้องหน่วยงาน และบุคคลรวม 11 ราย ได้แก่ กระทรวงการคลัง, นายอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รร้อยตำรวจหญิงระนองรัตน์ สุวรรณฉวี อดีตรัฐมตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, กระทรวงพลังงาน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายประสิทธิ์ สืบชนะ อดีตรองอธิบดี กรมธนารักษ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปตท.ฯ

นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีการไม่คืนท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และการนำท่อก๊าซซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไปแสวงหาประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รับเรื่องตรวจสอบตั้งแต่ปี 2555 และได้ประชุมมากกว่า 10 ครั้ง ก่อนจะมีมติให้ยื่นฟ้องศาลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559

สำหรับคดีนี้ ก่อนหน้านี้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด เมื่อปี 2550 แต่เนื่องจากศาลพิพากษาเห็นว่า น.ส.รสนา ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง จึงมีคำสั่งยกฟ้อง จากนั้น น.ส.รสนา ได้หารือกับสำนักงานผู้ตจรวจการแผ่นดิน ประกอบกับขณะนั้นภาคประชาชน นำโดยแพทย์หญิงกมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี มายื่นของผู้ตรวจการตรวจสอบจึงได้มีการพิจารณา และนำการมาสู่การฟ้องร้องวันนี้

สำหรับประเด็นการยื่นฟ้องศาลปกครองวันนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งใน 3 ประเด็น คือ 1.เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 และวันที่ 10 ส.ค. 2553 ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สิน ประกอบด้วยที่ดินที่ได้จากการเวนคืน สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินเอกชนและทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คือ

1.โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย 2.โครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และ 3.โครงการท่อราชบุรี-วังน้อย รวมถึงโครงการท่อย่อย ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 ประมาณ 16,175 ล้านบาท เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเกิดจากการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งขณะนั้น

2.สั่งให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศให้กระทรวงการคลังตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย วันที่ 30 ก.ย. 2544 จำนวน 68,569 ล้านบาท บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้คืนไปแล้วประมาณ 16,175 ล้านบาท ดังนั้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังคงต้องโอนคืนทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลังอีกจำนวนประมาณไม่น้อยกว่า 52,393 ล้านบาท รวมทั้งค่าตอบแทนและผลประโยชน์อื่นใดจากการใช้ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์และทรัพย์สินอื่นและสิทธิหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนดให้ครบถ้วนต่อไป

3.เพิกถอนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดิน เพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

 


นายศรีราชา เปิดเผยที่มาของการฟ้องร้องคดีนี้ว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 50 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบหลักการ ตามความเห็นของกระทรวงพลังงาน โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มีนายปิยสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น เกี่ยวกับการแบ่งแยกทรัพย์สินอำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว แล้วให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ซึ่งหากมีข้อโต้แย้งด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป

“พบว่าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลับร่วมกันเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเล และบนบกที่เป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง รวมทั้งระบบท่อที่ได้ก่อสร้างในที่ดินของรัฐ หลังจาก ปตท. แปรรูป เป็นบริษัทมหาชน โดยไม่มีผลตอบแทนคืนให้แก่บริษัท ปตท. และได้รายงานผลการดำเนินการตามคำพิพากษาอันเป็นเท็จดังกล่าวนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551 โดยรายงานว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ได้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิในการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว”

นายศรีราชา กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนโดยไม่เป็นธรรมและมิได้รักษาผลประโยชน์ของชาติตามหน้าที่ของข้าราชการที่ต้องพึงปฏิบัติ มีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนและลัดขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญในการแบ่งแยกทรัพย์สิน ปล่อยปละละเลยมิได้เร่งรัด ติดตาม ทวงคืนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดิน ใช้เวลาติดตาม ตรวจสอบมากกว่า 3 ปี และหลังจากศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้องของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต สว. ก็เพราะไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

แต่หลังจากนั้น แต่ น.ส.รสนา ได้พบผู้ตรวจการและหารือการตรวจสอบกรณีนี้ ประกอบกับ มีข้อร้องเรียนของภาคประชาชน ชุดของ พ.ท.พ.ญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ในนามเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมด้วย จนได้ข้อมูลที่เป็นเอกสารหลักฐานเสนอศาลกว่า 96 รายการ โดยในจำนวนนี้มีข้อมูลที่เป็นท่อก๊าซ ที่ สตง.ตรวจพบแล้วยังไม่มีการเปิดเผยกว่า 50 ท่อ เชื่อว่าทั้งคำฟ้อง และหลักฐานที่ยื่นประกอบรวมทั้งหมด ประมาณ 500 หน้า มีความหนักแน่นพอ ที่ศาลจะพิจารณาและมีคำพิพากษา

"ที่ผ่านมา ปตท.ใช้สิทธิแสวงหาประโยชน์จากประชาชนเกินกว่าที่ประชาชนจะแบกรับภาระ และเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบต่อไป ยังพบว่า มีความผิดปกติเรื่องกองทุนน้ำมันด้วย ที่ผ่านมาการตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังพบว่า บุคคลที่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการของปตท. และตัวแทนจากรัฐทั้งกระทรวงการคลัง และพลังงาน เมื่อปี 2557 มีผลประโยชน์จากการได้รับเบี้ยประชุมเฉลี่ย ปีละ 2 ล้านบาท ไม่รวมเงินปันผลอีกปีละ 2 ล้านกว่าบาท และเมื่อผู้ตรวจเริ่มตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก็มีอดีตประธาน ปตท. เขียนจดหมายส่วนตัวมาหา ยืนยันว่า ปตท. ทำทุ

ต่อมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีนี้ว่า ที่ผ่านมา ปตท.เคารพและปฏิบัติตามคำสั่งศาลตลอดมา ซึ่งประเด็นการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเรื่องการคืนท่อส่งก๊าซฯ นี้ ได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลมาตั้งแต่ปี 2550 – 2555 จำนวน 4 ครั้ง โดยศาลปกครองได้มีคำสั่งยืนยันทั้ง 4 ครั้งว่า ปตท. ได้คืนและแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาให้แก่กระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง