ทำความรู้จัก "เกาะบริติช เวอร์จิน" สวรรค์นักลงทุน

ต่างประเทศ
6 เม.ย. 59
20:17
7,311
Logo Thai PBS
ทำความรู้จัก "เกาะบริติช เวอร์จิน" สวรรค์นักลงทุน
การเปิดโปงเอกสารลับ "ปานามา เปเปอร์ส " ซึ่งเปิดเผยการทุจริตคอรัปชั่นของผู้มีอิทธิพลทั่วโลก พบว่าลูกค้าบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย "มอสแซค ฟอนเซกา" เลือกไปตั้งบริษัทนอกอาณาเขตที่ "เกาะบริติช เวอร์จิน" มากที่สุดกว่า 100,000 แห่ง

หลังจากสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติมีการเผยแพร่เอกสารลับ "ปานามา เปเปอร์ส" (Panama Papers) เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2559 เผยพฤติกรรมการปกปิดซุกซ่อนทรัพย์สินของผู้มีอิทธิพลทั่วโลก พบว่าลูกค้าบริษัทมอสแซค ฟอนเซกา ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายเลือกทำธุรกรรมที่ "เกาะบริติช เวอร์จิน" ที่เป็นเหมือนสวรรค์ของการลงทุน

หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน เป็นเขตปกครองตนเองในอาณัติของอังกฤษ อยู่ในทะเลแคริบเบียน มีประชากรรวมกันเพียงประมาณ 20,000-30,000 คน เนื้อที่ประมาณ 155 ตารางกิโลเมตร

รายได้หลักของบริติช เวอร์จินก่อนหน้านี้มาจากการประมงและการท่องเที่ยว แต่ประเทศนี้พลิกโฉมกลายเป็นสวรรค์ของนักธุรกิจทันทีเมื่อออกกฎหมายการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทของชาวต่างชาติหรือ "กฎหมาย IBC" เมื่อปี 2527 สร้างรายได้มหาศาลจากการค่าธรรมเนียมในการตั้งบริษัท

 

 

เงื่อนไขที่เอื้อต่อการตั้งบริษัท เช่น มีผู้ก่อตั้ง ผู้ถือหุ้น กรรมการผู้จัดการ อย่างน้อย 1 คน อาจเป็นคนๆ เดียวกันได้ไม่จำเป็นต้องมีพนักงาน ผู้ถือหุ้น กรรมการผู้จัดการ พนักงานจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็ได้ สัญชาติใดก็ได้ การประชุมผุ้ถือหุ้นทำที่ใดๆในโลกก็ได้ ไม่ต้องทำที่บริติช เวอร์จิน ไม่กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ไม่ต้องแสดงงบการเงินและบัญชีและไม่ต้องให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสามารถทำได้ภายใน 24 ชั่วโมง

 

 

นอกจากนั้นยังมีสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษี เช่น ไม่เก็บภาษีมรดก ภาษีกำไรจากการขาย ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ที่ตรวจสอบได้ยากทำให้ทั่วโลกมักจะมองบริษัทที่ไปตั้งนอกอาณาเขตในบริติช เวอร์จินในแง่ลบ ซึ่งหากใครก็ตามใช้บริษัทเหล่านี้เป็นที่ฟอกเงินหรือซุกซ่อนทรัพย์สินก็จะถือว่าทำผิดกฎหมายชัดเจน ซึ่งภายหลังจากที่มีเอกสารลับปานามารั่วไหลออกมา ผู้นำประเทศที่เป็นสวรรค์การลงทุนก็แสดงท่าทีว่าจะทำการตรวจสอบอย่างเข้มข้น

การลงทุนในบริติช เวอร์จิน อาจเป็นการโยกย้ายการลงทุนเพื่อผลกำไรหรือผลประโยชน์ทางภาษีหรือเลี่ยงภาษีหรือรอจังหวะที่จะได้ประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนแล้วค่อยนำเงินเข้ามาเสียภาษีในประเทศ ซึ่งในแง่กฎหมายอาจเปิดช่องให้ทำได้และอาจไม่ใช่เรื่องแปลกในแวดวงธุรกิจ แต่ในแง่ "ธรรมาภิบาล" อาจถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะเมื่อประเทศต้นทางของนักลงทุนอาจจะขาดรายได้จากภาษีที่จะไปพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ทั้งหมดนี้เป็นบทพิสูจน์พลังทางสังคมที่จะร่วมตรวจสอบเรื่องนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง