ปปง.แถลงตรวจสอบ "ปานามา เปเปอร์ส" พรุ่งนี้-"ไพบูลย์" สั่งขอเอกสารทางการ

ต่างประเทศ
7 เม.ย. 59
13:43
283
Logo Thai PBS
ปปง.แถลงตรวจสอบ "ปานามา เปเปอร์ส" พรุ่งนี้-"ไพบูลย์" สั่งขอเอกสารทางการ
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เตรียมแถลงชี้แจงการตรวจสอบชื่อบุคคลในประเทศไทยที่มีชื่ออยู่ในเอกสาร "ปานามา เปเปอร์ส" วันพรุ่งนี้ (8 เม.ย.2559) โดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ย้ำว่า ปปง.จะต้องประสานขอเอกสารที่เป็นทางการเพื่อใช้ในการตรวจสอบ

พล.อ.ไพบูลย์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่มีคนไทย 21 คนอยู่ในเอกสารปานามา เปเปอร์ส โดยระบุว่าให้ ปปง.เป็นผู้ชี้แจงโดยตรง แต่ขณะนี้เชื่อว่า ปปง.ยังไม่ได้รับเอกสารที่เป็นทางการ แต่ถ้าได้รับแล้วก็จะสอบสวนไปตามนั้น

ก่อนหน้านี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแล ปปง.ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ขอทราบรายละเอียดจาก ปปง.แล้ว พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าการนำเงินไปฝากนอกประเทศนั้นแม้บางกรณีอาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ย่อมมีคำถามถึงเจตนาว่าเป็นไปโดยบริสุทธิ์หรือไม่ เพราะกฎหมายอาจมีช่องว่างให้เกิดพฤติกรรมหลีกเลี่ยงภาษีและฟอกเงิน ดังนั้นเมื่อ ปปง.ทราบเรื่องแล้วก็ต้องตรวจสอบเชิงรุกด้วย

นายวิษณุระบุว่า โทษสูงสุดของกฎหมายฟอกเงิน คือ จำคุกตลอดชีวิต รวมถึงยึดทรัพย์สินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย

กรณี "ปานามา เปเปอร์ส" คือการเปิดเผยเอกสารลับของบริษัทมอสแซก ฟอนเซกา ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายแห่งหนึ่งในประเทศปานามา ที่ช่วยเหลือลูกค้ารายใหญ่ ทั้งบุคคลมีชื่อเสียง นักการเมือง และผู้นำบางประเทศ ในการฟอกเงินและเลี่ยงภาษี แต่ในรายชื่อที่ถูกเผยแพร่โดยสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) พบว่ามีคนไทย 21 คน เป็นลูกค้าของบริษัทนี้ด้วย

ทั้งนี้ ICIJ ระบุว่าผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในเอกสารซึ่งมีทั้งหมด 11.5 ล้านชิ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเสมอไป ขณะที่นักธุรกิจและบุคคลมีชื่อเสียงของไทยที่มีชื่ออยู่ในเอกสารดังกล่าวหลายคนได้ออกมายืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดกฎหมายหรือเลี่ยงภาษี ขณะที่บางส่วนยืนยันว่าไม่เคยลงทุนในต่าประเทศและไม่รู้ว่าเหตุใดจึงมีชื่ออยู่ในเอกสาร

ผู้นำปานามายืนยันให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ

นายฮวน คาร์ลอส บาเรลา ประธานาธิบดีปานามา ประกาศว่าจะให้ความร่วมมือในการสอบสวนคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่เอกสารลับของบริษัทกฎหมายมอสแซก ฟอนเซกา พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมาธิการอิสระ เพื่อปรับปรุงระบบกฎหมายและการเงินของประเทศให้โปร่งใส หลังภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายจากเรื่องอื้อฉาวในครั้งนี้

รัฐบาลปานามาได้ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า จะให้ความร่วมมือในการสอบสวนคดีภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยจะให้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลและปฏิบัติตามกลไกที่มีอยู่

นายบาเรลายังกล่าวถึงกรณีที่องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ตำหนิปานามาว่าไม่ยอมให้ความร่วมมือ ในการแบ่งปันข้อมูลด้านบัญชีการเงินกับประเทศอื่นๆ เท่าที่ควร พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปานามาปรับปรุงระบบภาษีให้มีความโปร่งใสตามมาตรฐาน

ที่มา-ที่ไป "ปานามา เปเปอร์ส"

"ปานามา เปเปอร์ส" เป็นเอกสารลับประมาณ 11.5 ล้านฉบับที่รั่วไหลออกมาจากบริษัทมอสแซก ฟอนเซกา (Mossack Fonseca) ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายในปานามา ทสื่อแรกที่ได้รับเอกสารลับจำนวนมหาศาลนี้คือ Sueddeutsche Zeitung หนังสือพิมพ์รายวันของเยอรมนีที่ระบุว่าได้รับเอกสารมาจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผย เมื่อได้รับมาแล้วสื่อสำนักนี้ได้ส่งต่อไปให้สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists--ICIJ) ซึ่งได้ร่วมกันขุดคุ้ยข้อมูลและเปิดเผยต่อในวงกว้างเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2559

อย่างไรก็ตาม ICIJ มีคำชี้แจงในหน้าเว็บไซต์ที่เปิดให้ค้นหารายชื่อบุคคลในปานามา เปเปอร์ว่า "การทำธุรกรรมในบริษัทการค้านอกประเทศนั้นสามารถกระทำได้อย่างถูกกฎหมาย และการเปิดเผยข้อมูลนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะชี้นำว่าบุคคล บริษัทหรือองค์กรใดที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลนี้เป็นผู้ที่กระทำผิดกฎหมายหรือประพฤติมิชอบ"

(ค้นหาชื่อบุคคลและองค์กรที่อยู่ในเอกสารปานามา เปเปอร์สได้ ที่นี่)

เอกสารลับเหล่านี้พบว่าลูกค้าของบริษัทนี้ ซึ่งมีสำนักงานใน 35 ประเทศ มีทั้งผู้นำประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบัน และยังมีคนใกล้ชิดของคนดังในวงการแสดงและกีฬา รวมทั้งลีโอเนล เมซซี นักเตะชื่อดังของทีมบาร์เซโลนา และมิเชล พลาตินี ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป

การสืบสวนสอบสวนของ ICIJ พบว่าบุคคลผู้ใกล้ชิดของนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ทำการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินมากถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 70,500 ล้านบาท) ผ่านธนาคารและบริษัทที่ตั้งขึ้นมาบังหน้าหลายแห่ง

นอกจากคนใกล้ชิดของนายปูตินแล้ว ICIJ ยังได้สืบสวนพฤติกรรมของผู้นำและอดีตผู้นำประเทศ 12 คน เช่น นายกฯ ปากีสถาน ประธานาธิบดียูเครน และกษัตริย์แห่งซาอุดิอาระเบีย

"ปานามา เปเปอร์ส" บอกอะไรบ้าง

● เอกสารลับชุดนี้ประกอบด้วยเอกสารทั้งหมดราวๆ 11.5 ล้านชิ้นที่มีข้อมูลย้อนหลังไปเกือบ 40 ปี เกี่ยวข้องกับบริษัทการค้านอกประเทศกว่า 214,000 แห่ง
● เปิดเผยข้อมูลการถือทรัพย์สินในบริษัทการค้านอกประเทศโดยนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ 140 คนทั่วโลก รวมทั้งผู้นำและอดีตผู้นำประเทศ 12 คน เช่น นายกฯ ไอซ์แลนด์ นายกฯ ปากีสถาน ประธานาธิบดียูเครนและกษัตริย์ซาอุฯ
● ในเอกสารมีชื่อบุคคล 33 คนที่ถูกขึ้นบัญชีดำโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดเม็กซิกัน กลุ่มก่อการร้ายเฮซบอลเลาะห์ ทางการเกาหลีเหนือและอิหร่าน เป็นต้น
● แสดงให้เห็นว่ากิจการธนาคารในประเทศต่างๆ อยู่เบื้องหลังกิจการของบริษัทการค้านอกประเทศที่ยากต่อการตรวจสอบอย่างไร ธนาคารชื่อดังหลายแห่ง เช่น HSBC UBS และ Société Générale ได้เปิดบริษัทการค้านอกประเทศมากกว่า 15,000 แห่งเพื่อให้บริการลูกค้าธนาคารผ่าน บ.มอสแซกฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง